INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : ชาติชาย พยุหนาวีชัย ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

ชาติชาย พยุหนาวีชัย

ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ 

บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) 



ร่วมนำทัพ ออริจิ้น สู่ NEXT LEVEL ที่ไม่ได้มีแค่อสังหาริมทรัพย์ 


 

ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้  หรือ ORI หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มี Big Move มากที่สุดในปี 2564 กับการประกาศแผนดำเนินงานภายใต้แนวคิด “ORIGIN NEXT LEVEL”

 

บริษัทได้คว้าขุนพลมือดีที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการเงินมานานกว่า 30 ปี อย่าง ชาติชาย พยุหนาวีชัย มาร่วมเสริมทัพในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริษัท หรือ ประธานบอร์ดบริหาร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนและขับเคลื่อนกลยุทธ์ในส่วน Next Level of Business Expansion 


การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษชาติชาย เจ้าตัวให้เหตุผลที่มาร่วมทัพกับออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ว่าได้รับการชักชวนจาก พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจมาร่วมทัพด้วยคือ เรื่อง ความหลงใหล” หรือ Passion ที่ตรงกัน


 “ถ้าเทียบเป็นอายุ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ คงเป็นบริษัทที่มีความเป็นวัยรุ่นค่อนข้างสูง โตไว ไฟแรง ปรับตัวเร็ว ชอบความท้าทาย แม้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 บริษัทก็ยังคงหาทางสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับทั้งตัวเองและผู้บริโภคอยู่เสมอ"


นอกจากนี้ ชาติชายมองว่า ผู้บริหาร ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างอีโคซิสเท็ม ต่อยอดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจรเพื่อตอบโจทย์คนทุกเจเนอเรชั่น


"จากประสบการณ์ในการทำงานที่ผมมี บวกกับความหลงใหลในการทำสิ่งใหม่ๆ ทั้งในส่วนตัวผมเอง และ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ นั้นตรงกันพอดี จึงทำให้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงาน



กลยุทธ์ก้าวตามแผน "ORIGIN NEXT LEVEL"


ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ K-Shaped ที่มีทางแยกระหว่างตัว “K หางขึ้น” กับ “K หางลง” ชาติชายมองว่า ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทที่ชัดเจนว่ามุ่งมั่นจะนำพาองค์กรให้เติบโตไปทาง “K หางขึ้น” 


ชาติชาย ซึ่งมีความถนัดหลากหลายด้าน ไม่เพียงเฉพาะด้านการเงิน แต่ครอบคลุมไปทั้งด้านการตลาด ด้านภาพลักษณ์องค์กร จึงนำประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของตัวเอง มา ปลั๊กอิน” กับการนำพาองค์กรสู่ Next Level ในด้านต่างๆ เช่น ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับใบอนุญาตและเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในช่วงปลายปีนี้


ขณะเดียวกัน ชาติชายยังมองถึงการเข้ามาช่วยปรับองค์กรในภาพรวมเพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่จะนำพา ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ให้ก้าวไปตามแผน ORIGIN NEXT LEVEL ได้ต้องมาจาก 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 

 

           1. การเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ที่ผ่านมา ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เอง ก็โตไปทั้งแนวกว้างและแนวลึก จนมีคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร ครอบคลุมทุกเซ็กเมนท์ การจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ หากไม่ได้เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูงแบบอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส เมกะเทรนด์” มีโอกาสเติบโตตอบโจทย์คนวงกว้างในอนาคต เช่น ธุรกิจบริการสุขภาพ (เฮลธ์แคร์) เพราะตอนนี้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น หรือธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ปัจจุบันเติบโตอย่างมากจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในช่วงโควิด-19 


            2. การเติบโตไปกับพันธมิตร ที่ผ่านมา ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เปิดกว้างอย่างมากกับการร่วมมือทั้งพันธมิตรชาวไทยและพันธมิตรต่างชาติ ทำให้ปัจจุบันมีพันธมิตรทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย มาร่วมทุนในโครงการประเภทต่างๆ นับเฉพาะคอนโดมิเนียมก็มีมูลค่าโครงการร่วมทุนสะสมกว่า 40,000 ล้านบาท และเป็นจุดเด่นที่ทำให้ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีหลังมานี้ การมีพันธมิตรจะเป็นสปริงบอร์ดให้บริษัทก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ แบบ Next Level ได้ง่ายขึ้น


          3. การเติบโตไปกับ Disruptor Mindset เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคยังคงปรับเปลี่ยนอย่างไม่หยุดนิ่ง จากกระแส Next Normal ทีมงานทุกคนจึงจำเป็นต้องมี Disruptor Mindset เพื่อไม่ให้ตัวเองยึดติดกับมุมมองแบบเดิมๆ แต่มีวิธีคิดที่ยืดหยุ่น วิธีคิดที่พร้อมเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ


 

พร้อมรุก 3 ธุรกิจใหม่ เฮลธ์แคร์-โลจิสติกส์-บริหารสินทรัพย์ 


สำหรับแผนปี 2564 ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จะก้าวไปแบบ Next Level กับธุรกิจใหม่อีก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ เช่น ธุรกิจเสริมความงาม ศูนย์บริการสุขภาพ กลุ่มแพลตฟอร์มให้บริการสุขภาพออนไลน์และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ  2. กลุ่มธุรกิจศูนย์โลจิสติกส์ ดำเนินกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ ภายใต้การร่วมทุนกับ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)  และ 3. กลุ่มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC


โดยธุรกิจ AMC นั้นถือเป็นการนำรากฐานองค์ความรู้และความพร้อมในเครือบริษัทมาต่อยอดสู่การดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์อย่างเข้มแข็งและครบวงจร ร่วมกันบริหารทรัพย์สินรอการขาย (NPA) และสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้บริโภค การคัดกรองทรัพย์ การพัฒนาโครงการ การรีโนเวต การขาย การตลาด มาเพิ่มมิติในการดูแลผู้บริโภคและมิติการเติบโตสู่อีกระดับของเครือ


เราจะทำให้ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เป็นธุรกิจที่ครบวงจร ทั้งธุรกิจเดิม คือ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจใหม่ที่อยู่ระหว่างการต่อจิ๊กซอว์ เพื่อก้าวสู่ Next Level ตามแผนที่วางไว้ ภายใต้ 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย การเติบโตไปกับเมกะเทรนด์ เติบโตไปกับพันธมิตร และเติบโตไปกับ Disruptor Mindset


นอกจากนี้ ในอนาคต ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีนโยบายผลักดันบริษัทในกลุ่มที่มีการเติบโตเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยล่าสุด บริษัท บริทาเนีย จำกัด (มหาชน) หรือ BRI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ยื่นคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) และมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเชื่อว่าการมีธุรกิจที่หลากหลายในพอร์ตจะสามารถทำให้บริษัทมีการเติบโตที่มั่นคง

 


มุมมองต่อภาคอสังหาริมทรัพย์

ในสถานการณ์โควิด


จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคธุรกิจ หลังจากเหตุการณ์สิ้นสุดลงแล้ว ชาติชาย มีมุมมองว่า บางธุรกิจอาจจะล้มหายไปบ้าง หากไม่ปรับตัวอาจจะเริ่มมีปัญหา ในปัจจุบันอาจจะยังมองว่าไม่มีปัญหามากนัก เพราะสถาบันการเงินยังมีมาตรการที่ช่วยชะลอหนี้ ทั้งการพักเงินต้นและดอกเบี้ย แต่หากหมดมาตรการเหล่านี้แล้วอาจจะส่งผลกระทบและล้มลงได้ สำหรับธุรกิจที่มีการปรับตัวอยู่เสมอเชื่อว่าจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้


สำหรับ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีการปรับตัวที่ครอบคลุมทั้งปัจจุบันไปจนถึงอนาคต มีการขยายธุรกิจและสร้างความร่วมมือแบบ 360 องศา จนเกิดทั้งแบรนด์ใหม่ ทำเลใหม่ ความร่วมมือใหม่ พันธมิตรใหม่ กลุ่มเป้าหมายใหม่ ฟังก์ชันและบริการใหม่ๆ และหลากหลายธุรกิจ 


นอกจากนี้ มีการร่วมลงทุน (JV) ในทั้งธุรกิจคอนโดมิเนียม โรงแรม กับพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง และรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ เช่น พลังงาน โลจิสติกส์ เฮลธ์แคร์ และนายหน้าประกันภัย ไปจนถึงการมีนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ที่บริษัทกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 


ผลจากการปรับตัวของ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ทำให้ผลงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาติด 10 อันดับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผลประกอบการเติบโตสูงสุด ซึ่งมีไม่กี่บริษัทที่สามารถเติบโตได้ทั้งยอดขายและกำไรในภาวะวิกฤติเช่นนี้ 


หลังจากที่ผมเข้ามาร่วมงานกับออริจิ้น ก็มองเห็นว่า บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งด้านผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีลูกค้าครอบคลุมทั้งช่วงอายุ และรายได้ ตั้งแต่รายได้สูง ปานกลาง ไปจนถึงกลุ่มนักศึกษา อีกทั้งมีการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ตอบโจทย์ทั้งคนรักสัตว์เลี้ยง สตาร์ทอัพ ไปจนถึงผู้สูงอายุเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เรียกว่าโดดเด่นทั้ง Business Expansion และ Living Solutions ดังนั้น ตลาดของออริจิ้น จึงกว้างและมีผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจร” 


            

จุดแข็งออริจิ้น บุคลากร-พอร์ตธุรกิจหลากหลาย” 


ชาติชาย ยังได้กล่าวถึงจุดแข็งของ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ว่าเป็นบริษัทที่มีการวางโครงสร้างพื้นฐาน และความคิดที่ดีแก่พนักงานทุกคน ให้รับรู้ถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้พนักงานขององค์กรมีความพร้อมที่จะปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเติบโตได้ เพราะทุกคนมีความสามารถในการขายด้วย แม้ในสภาวะวิกฤติแบบนี้บริษัทยังคงเดินหน้าเติบโตไปได้ 

นอกจากนี้ มีโครงสร้างธุรกิจที่หลากหลาย ประกอบด้วย


         1. ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย โดยพัฒนาคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรมาแล้ว 86 โครงการ (ณ สิ้นไตรมาส 2/2564) เช่น แบรนด์ พาร์ค ออริจิ้น (PARK ORIGIN) ดิ ออริจิ้น (The Origin) ไนท์บริดจ์ (KnightsBridge), นอตติ้ง ฮิลล์ (Notting Hill), เคนซิงตัน (Kensington) แฮมป์ตัน (Hampton) และ บริทาเนีย (BRITANIA) รวมมูลค่าโครงการกว่า 134,000 ล้านบาท 


         2. ธุรกิจที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง (Recurring Income Business) เช่น โรงแรม เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ค้าปลีก โดย ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีพันธมิตรและมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว และนำประสบการณ์ด้านโรงแรมไปทำเซอร์วิสให้กับอพาร์ตเมนต์ คาดว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

        3. ธุรกิจบริการ (Service Business) เช่น ธุรกิจการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจตัวแทนซื้อขาย เช่า อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ และยังมีวิสัยทัศน์ในการขยายธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร 


 



ธุรกิจอสังหาฯจะปรับตัวอย่างไร

เพื่อให้อยู่รอดในวิกฤติ


ชาติชาย มีมุมมองว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ทุกภาคส่วนธุรกิจได้รับผละกระทบทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้ประกอบการรวมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ต้องมีการบริหารจัดการสภาพคล่องของตนเอง ด้านการขายก็ต้องมีการคัดเลือกลูกค้าที่มีกำลังซื้อ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่หากไม่คัดเลือกลูกค้า 


อีกทั้งต้องมีความสามารถในการขาย หากขายไม่ได้ต้องรู้จักถอย หรือต้องตั้งเป้าหมาย เช่น ผ่านไปครึ่งปีควรจะขายได้เท่าไร หากขายได้ประมาณ 50 % ของมูลค่าโครงการแล้วจึงเริ่มต้นก่อสร้างไม่ใช่ขายได้เพียง 30% แล้วรีบสร้าง ดังนั้น ควรถอยตั้งแต่แรก นอกจากนี้ การขายหรือการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ ควรสำรวจความต้องการของผู้บริโภค หากมีความต้องการน้อยก็ไม่ควรเสี่ยงขึ้นโครงการหรือก่อสร้าง


สำหรับ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ได้รับผลกระทบไม่มากนัก บริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ประมาณ 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 2567 ขณะเดียวกัน ได้เปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้จำนวน 20 โครงการ เป็นการสร้างฐาน Backlog ให้แข็งแกร่ง เพื่อให้มีการโอนกรรมสิทธิ์และรายได้ใหม่ๆ ในอนาคตเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้ารายได้ปีนี้อยู่ที่ 14,000 ล้านบาท เป้ายอดโอนกรรมสิทธิ์ 12,800 ล้านบาท


เปิดรับนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ขยายฐานลูกค้า


หลักสำคัญเพื่อทำให้รายได้ฝั่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นไปได้ตามเป้าหมายคือ การใส่ใจกับคุณภาพสินค้าและทำเล ต้องตอบโจทย์ความพึงพอใจของลูกค้า และต้องเป็นทำเลที่ผู้บริโภคมีความต้องการเพื่ออยู่อาศัยจริง ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น 


การจะก้าวข้ามผ่านวิกฤติโควิด-19 นี้ไปให้ได้ต้องมีการปรับตัว สำหรับออริจิ้นได้ปรับตัวด้านช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งสามารถทำยอดขายได้ 200-300 ล้านบาท นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่บริษัทจะพัฒนาต่อไป ทั้งเรื่องการใช้บิตคอยน์ในการซื้อที่อยู่อาศัยได้ นับว่าเป็นตลาดใหม่ การมีนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ จะทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่ๆ อีกด้วย และทำให้ตลาดยังคงเดินหน้าต่อไปได้


นอกจากนี้ ชาติชายมีมุมมองว่า อสังหาริมทรัพย์ ต้องหาช่องทางการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านผลประกอบการในระดับหนึ่ง เพราะในอนาคตเราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้นการมีหลายธุรกิจรองรับก็สามารถช่วยใช้บริษัทกระจายความเสี่ยงได้


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ได้ปรับตัวค่อนข้างมาก เช่น มีการชะลอการก่อสร้างโครงการในแนวสูง หันมาพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหลังมีการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ที่ปัจจุบันมีโครงการแนวราบประมาณ 30-40% และในอนาคตหากขยายเพิ่มขึ้นได้อีกจะทำให้สามารถลดความเสี่ยงได้มากขึ้น 


ออริจิ้น เป็นองค์กรอนาคตไกล มี Speed of Business สูง ผมเชื่อว่าเป้าหมายการสร้างอีโคซิสเท็มของออริจิ้น จะไม่ทำให้ออริจิ้นหยุดแค่การเป็น Corporate แต่อาจจะเติบโตจนกลายเป็น Conglomerate ที่แข็งแกร่งอีกแห่งหนึ่งของไทยได้ในอนาคต” ชาติชาย กล่าวทิ้งท้าย



ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกันยายน 2564 ฉบับที่ 473 

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi