INTERVIEW • PEOPLE

People : สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “โรบินฮู้ด”

สีหนาท ล่ำซำ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด
ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “โรบินฮู้ด”
 
ก้าวสู่ปีที่ 2 “โรบินฮู้ด”
มุ่งสู่ “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย”

 

เป้าหมายสำคัญของโรบินฮู้ดคือการเป็นซูเปอร์แอปภายในปี 2565 โดยนิยามของคำว่าซูเปอร์แอปฯของโรบินฮู้ดอาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่ากับซูเปอร์แอปต่างชาติรายอื่น แต่ต้องการให้มี “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย” เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของไทยและออกไปในระดับภูมิภาค ซึ่งเตรียมระดมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพลตฟอร์มในปีหน้าเช่นกัน”


เมื่อ 26 ตุลาคม 2563 “โรบินฮู้ด” โดย บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เริ่มต้นภารกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทยเป็นครั้งแรก ท่ามกลางการแข่งขันของแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีที่ดุเดือด ในช่วงภาครัฐประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของ Covid 19 ทำให้ร้านอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โรบินฮู้ดนับว่าเป็นแอปเล็กๆ เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น เริ่มต้นด้วยการมาเพื่อภารกิจช่วยคนตัวเล็ก ซึ่งคือร้านค้าและบรรดาไรเดอร์ส่งอาหารที่นอกจากยอดขายจะน้อยลงแล้ว ยังต้องถูกหักจีพีในการให้บริการอีกด้วย จุดเด่นของ โรบินฮู้ด คือการประกาศว่าจะไม่เก็บค่าจีพี และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งาน แต่ด้วยขนาดของแพลตฟอร์มที่ยังเล็ก การเข้ามาลงสนามด้วยสงครามราคาอาจจะไม่สะเทือนผู้เล่นรายใหญ่ในตอนนั้น

จนมาถึงจุดที่เปลี่ยนทำให้โรบินฮู้ดเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด คือช่วงล็อกดาวน์รอบสองเมื่อกลางปี 2564 ที่โรบินฮู้ดได้ออกมาตรการพิเศษ “ส่งฟรีทุกออร์เดอร์ช่วงล็อกดาวน์” เกิดกระแสในโซเชียลเรื่อง “สั่งไข่ดาวข้ามจังหวัด ระยะทาง 40 กม. ราคา 5 บาท” จากจุดนั้นเป็นสปริงบอร์ดที่ทำให้โรบินฮู้ดเร่งพัฒนาความสามารถขยายระบบรองรับรายการที่มากขึ้นจาก 20,000-30,000 รายการต่อวัน เป็นกว่า 200,000 รายการต่อวันได้ และเป็นการขยายขีดความสามารถเพิ่ม 10 เท่า ภายใน 14 วัน

หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ โรบินฮู้ด คือ สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงและการสร้างนวัตกรรม สีหนาทจบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรรมไฟฟ้ากำลัง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยสายที่เรียนจบมาเกี่ยวกับด้านมือถือและดาวเทียม

เขาเริ่มทำงานที่บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศคือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS ในการทำ New Business Model ได้แก่ MobileLife เพื่อให้บริการ Mobile Banking กับทุกธนาคารทั้ง 8 แห่ง ผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงได้จัดตั้ง บริษัท MPay Co.,LTD ซึ่งนับว่าเป็น Mobile Payment Company รายแรกของประเทศไทย ภายใต้บริษัทลูกของ AIS และมีการร่วมทุนกับ NTT Docomo Japan ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น

 

โอกาสอยู่นอกคอมฟอร์ตโซน

กับความเชื่อในการเปลี่ยนแปลง

ช่วงเริ่มทำงานกับ AIS เป็นยุคที่เกิดสงครามราคาขึ้นพอดี จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาดเดิมค่ายมือถือเคยคิดค่าโทรตามระยะทาง ก็เปลี่ยนเป็นคิดเหมาทั้งประเทศแทน ตอนนั้นจึงต้องมองหาธุรกิจใหม่ที่จะฉีกจากแบบเดิม แต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากเพราะมีข้อจำกัดของธุรกิจอยู่”

นับจากนั้น สีหนาท มีโอกาสร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เป็น Innovation Banking Service เพื่อ Transform พฤติกรรมลูกค้าให้ใช้ Digital Channels มากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นธนาคารแรกที่ให้บริการทางด้าน Digital Banking อย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี 2548 และเป็นยุคแรกที่เกิดการร่วมมือกันระหว่างธนาคารและโทรคมนาคม

 หลังจากนั้นสีหนาทได้เข้าร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Payment Product Solution and Management ซึ่งนอกจากจะใช้ประสบการณ์สร้างInnovation Service ให้ธนาคารไทยพาณิชย์แล้ว เขายังได้ใช้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าไปวางรากฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National E-Payment) ให้ประเทศไทย โดยทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ในการออก National E-Payment Roadmap ของประเทศไทย และสามารถพัฒนาต่อยอดเป็น E-Payment Infrastructure ของประเทศไทย เช่น PromptPay และ QR Payment

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้รับโอกาสใหม่ๆ คือ ต้องกล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน ต้องเริ่มจากความกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ซึ่งความกล้ารับกับการเปลี่ยนแปลงทำให้ได้เข้ามาร่วมงานกับไทยพาณิชย์จนได้มาเริ่มต้นสร้างโรบินฮู้ด”

 

Rebuit ภาพ ไรเดอร์

ให้ผู้ใช้ต่างประทับใจ

สีหนาทเล่าว่า โรบินฮู้ด เริ่มต้นด้วยเป้าประสงค์ในการช่วยเหลือร้านค้าเล็กๆ และไรเดอร์ ไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องไม่มีค่าจีพีแต่จะทำอย่างไรให้ร้านค้าเล็กๆ ที่เดือดร้อนเพราะเปิดให้นั่งทานตามปกติไม่ได้สามารถขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งก็ไม่ง่ายเพราะเกือบครึ่งคือกลุ่มที่ไม่ได้คุ้นกับเรื่องดิจิทัล

บางร้านเก่าแก่เจ้าของเป็นอากงอาม่าที่ระดับรัฐมนตรีสั่งอาหารมาทาน ทำยังไงก็ไม่ยอมขึ้นแพลตฟอร์ม เพราะลูกหลานไม่ได้รับช่วงกิจการต่อ ทำเรื่องเทคโนโลยีไม่เป็น แต่โรบินฮู้ดก็เข้าไปช่วยให้มีเครื่องมือให้โทรศัพท์ที่ใช้งานรับออร์เดอร์ได้ เพราะอยากจะช่วยเหลือร้านค้าที่เดือดร้อนจริงๆ ซึ่งทุกวันนี้ร้านในวันแรกๆ ก็ยังอยู่บนโรบินฮู้ด

อีกส่วนที่สำคัญของนิเวศแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีนอกจากร้านค้าก็คือ “ไรเดอร์” ที่เป็นกลุ่มใหญ่มากแต่อาจจะไม่เห็นความสำคัญ สำหรับโรบินฮู้ดให้ความสำคัญกับไรเดอร์เป็นสิ่งแรก เพราะพวกเขาคือผู้ที่สัมผัสลูกค้าโดยตรง (Human Touch) ลูกค้าจะประทับใจหรือไม่ประทับใจนอกจากคุณภาพอาหาร ความสด อร่อย แต่อยู่ที่ไรเดอร์ด้วย

โรบินฮู้ดเข้าไป Rebuit คำว่าไรเดอร์ใหม่ ไม่ใช่แค่เป็นพนักงานส่งเดลิเวอรี่ แต่เป็น โรบินฮู้ดเดลิเวอรี่ มีการอบรมอย่างจริงจัง 90% ไม่ใช่แค่ให้ดูคลิปอบรมแต่สอนเรื่องมารยาท บุคลิกภาพ แต่งตัว กราบไหว้พูดจา การถืออาหาร ส่วน 10% คือสอนใช้แอป ไรเดอร์ของโรบินฮู้ดวิ่งจริงได้จริงไม่คิดค่าจีพี ไม่บังคับว่าจะต้องขับให้แพลตฟอร์มเดียว ยิ่งขยันทำงานเขายิ่งได้”

 

วาง Mission ครั้งใหญ่

มุ่งหน้าเป็น ซูเปอร์แอปฯ       

26 ตุลาคม 2564 โรบินฮู้ดเดินทางมาครบรอบ 1 ปีแล้ว จากจุดเริ่มต้นที่มีร้านอาหาร 100,000 ร้าน ก็มีมากกว่า 164,000 ร้านค้า โดย 95% เป็นร้านเล็กๆ มีจำนวนไรเดอร์จาก 8,000 คน เพิ่มเป็น 26,000 คน ผู้ใช้งานเพิ่มมาแตะ 2 ล้านราย และมีคำสั่งซื้อจาก 20,000 รายการ เป็น 150,000 รายการต่อวัน ระยะทางในการส่งอาหารรวมในโรบินฮู้ดรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นระยะทางที่สามารถเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ได้ 172 รอบ

“1 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จของโรบินฮู้ดเกิดขึ้นได้เพราะทุกคนไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่เข้ามาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น เราสู้ในทุกสนาม และความสำเร็จอย่างหนึ่งของโรบินฮู้ดคือ การบอกต่อปากต่อปาก เกิดการส่งต่อความช่วยเหลือ ผู้ใช้งานในโรบินฮู้ดไม่ได้สั่งตามส่วนลดที่มี แต่สั่งเพราะต้องการช่วยร้านค้าเล็กๆ แถวบ้านจริงๆ”


สีหนาท เผยว่า สำหรับก้าวต่อไปของโรบินฮู้ด เมื่อจบภารกิจแรกที่ตั้งใจมาเพื่อช่วยเหลือเหมือนเป็น CSR ที่ประสบความสำเร็จแล้วก็จะขยับเปลี่ยนตัวเองข้ามไปกึ่งเชิงธุรกิจมากขึ้น ไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่จะสร้างกำไรในจุดที่สามารถสร้างกำไรได้ เช่น ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่โรงแรมแต่มีเรื่องตั๋วเครื่องบิน รถเช่า บริษัททัวร์ โดยโรบินฮู้ดจะเป็นเครื่องมือให้ผู้ประกอบการ ไม่ใช่ไปหากำไร เพราะยังยึดในหลักการว่ามาเพื่อช่วยเหลืออยู่แต่เป็นการช่วยเหลือในหลากหลายมิติ

ดังนั้น แผนในปี 2565 ของโรบินฮู้ดนอกจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีตั้งเป้าเพิ่มผู้ใช้เป็น 4,000,000 รายและมี 300,000 ร้านค้าเข้าร่วม และเตรียมขยายแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดเข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็น Non-Food ได้แก่

       1. Robinhood Travel บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) หวังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SME ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ ตั้งเป้ามีโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเข้าร่วม 45,000 ราย สร้างทริปท่องเที่ยว 480,000 ทริปในปี 2565

        2. Robinhood Mart บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) ระดับพรีเมียมเพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการได้เจอกับลูกค้าโรบินฮู้ดซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและพร้อมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ตั้งเป้ามีผู้ใช้ 1.5 ล้านรายมีร้าน 8,000-10,000 แห่งเข้าร่วม

       3. Robinhood Express บริการรับ-ส่งของ (Express Service) แบบ on-demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้ามีองค์กรธุรกิจ 5,000 แห่งเข้าร่วมในรูปแบบ (B2B) และมีรายการเกิดขึ้น 4,000 รายการต่อเดือน

ในปี 2565 ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ที่เป็นธุรกิจเริ่มต้นของโรบินฮู้ดเตรียมขยายขอบเขตการให้บริการสู่ต่างจังหวัด โดยเตรียมปักหมุดนำร่องที่ 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ศักยภาพและมีความต้องการบริการด้านฟู้ดเดลิเวอรี่สูง ควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของร้านค้า และไรเดอร์ มุ่งพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ให้ดีขึ้น เพิ่มฟีเจอร์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น”

สีหนาท กล่าวอีกว่า จุดที่จะทำให้โรบินฮู้ดมีรายได้กลับมาคือเรื่องข้อมูลที่อยู่บนแพลตฟอร์มของโรบินฮู้ด ที่จะนำไปสู่บริการทางการเงินต่างๆเช่น เงินให้สินเชื่อกับไรเดอร์หรือร้านอาหาร โดยเตรียมผสานความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม SCBX เช่น Auto X ด้านสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ , Card X ด้านโปรโมชั่นบัตรเครดิต, Data X, SCB Tech X ในการหาลูกค้า (Customer Acquisition) พร้อมการนำเอาดาต้ามาต่อยอดด้านสินเชื่อและบริการทางการเงินอื่นๆ, การทำโฆษณา, การทำโปรโมชันกับลูกค้า เพื่อประโยชน์สูงสุดของร้านค้า และลูกค้า

เป้าหมายสำคัญของโรบินฮู้ดคือ การเป็นซูเปอร์แอปภายในปี 2565 โดยนิยามของคำว่าซูเปอร์แอปของโรบินฮู้ดอาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่เท่ากับซูเปอร์แอปต่างชาติรายอื่น แต่ต้องการให้มี “ซูเปอร์แอปสัญชาติไทย” เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจของไทยและออกไปในระดับภูมิภาค ซึ่งเตรียมระดมทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพลตฟอร์มในปีหน้าเช่นกัน”


ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ฉบับที่ 475

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi  


รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt