โกลเบล็ก คัด 6 หุ้นเด่นส่งออกโตรับบาทอ่อน
บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้ผันผวนจากแรงกดดันตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาด จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,550-1,600 จุด พร้อมแนะกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค. 65 เติบโตดี จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า พร้อมชู 6 หุ้นเด่น BRR-KSL-TFG-GFPT-ASIAN-JUBILE น่าลงทุน
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้แกว่งตัวผันผวน ได้รับแรงกดดันภายหลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ(PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 4.9%YoY และ 0.6%MoM สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7%YoY จากระดับ 4.7%YoY และ 0.5%MoM หลังจากทรงตัวในเดือนก.ค.
อีกทั้งแนวโน้มอัตราผลตอบแทนของสัญญา CDS ระยะเวลา 5 ปีของเครดิตสวิสพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่ผู้บริหารเร่งสร้างความเชื่อมั่นจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่
ขณะที่สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีโอกาสยืดเยื้อต่อภายหลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาเพื่อรับรองความเป็นอิสระของแคว้นซาปอริซเซียและแคว้นเคอร์ซอน ซึ่งเป็นสองแคว้นทางตอนใต้ของยูเครนที่รัสเซียสามารถยึดครองได้เป็นบางส่วน ส่วนยูเครนประกาศว่าสามารถยึดคืนพื้นที่ศูนย์ส่งกำลังบำรุงทางตะวันออกของเมืองลือมันได้โดยสมบูรณ์แล้ว
ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดวันหยุดยาวส่งผลให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (หันด์โฟลว์)ของนักลงทุนต่างชาติอาจเบาบางลง จึงคาดการณ์การดัชนีในกรอบ 1,550-1,600 จุด
ส่วนปัจจัยที่ยังต้องจับตา อาทิ วันที่ 4 ต.ค. สภาผู้ส่งออกแถลงสถานการณ์การส่งออก วันที่ 5 ต.ค. กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า วันที่ 7 ต.ค. ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) และวันที่ 26-29 ต.ค. ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 และปัจจัยต่างประเทศ อาทิ วันที่ 5 ต.ค. กำหนดประชุมโอเปกพลัสเกี่ยวกับนโยบายการผลิต, อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล,สหรัฐ รายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.ย.จาก ADP ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนส.ค.
กลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลวันที่ 1 ต.ค. 2565 ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประกอบกับการเข้าสู่ไฮซีซั่นในช่วงปลายปี และการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตั๋วเครื่องบินราคาถูก หุ้นที่ได้ประโยชน์ ได้แก่ ERW, CENTEL, VRANDA, ASAP และ SPA
สำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค. 65 เติบโตดี จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ได้แก่ น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ โดยหุ้นที่ได้อานิสงส์ ได้แก่ BRR, KSL, TFG, GFPT, ASIAN และ JUBILE