คนกรุงเทพฯ กลับมาทำกิจกรรมฉลองปีใหม่ 2566 คาดเม็ดเงินสะพัด 30,900 ล้านบาท
ปีใหม่ 2566 ประชาชนกลับมาทำกิจกรรมและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน…แต่ยังมีปัจจัยกดดันกำลังซื้อ
ด้วยสถานการณ์การฟื้นตัวด้านรายได้ที่ยังเปราะบางและภาวะค่าครองชีพสูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ยังต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาทำกิจกรรมนอกบ้านและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ผ่านมาในครึ่งหลังของปี 2565 ก็กลับมามีการจัดงานเฉลิมฉลองตามปกติ สอดคล้องไปกับผลการสำรวจ ที่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการฉลองเทศกาล โดยอาจจัดสรรค่าใช้จ่ายบางส่วนเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายปกติสำหรับทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลภายใต้งบประมาณที่จำกัด
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การตัดสินใจใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น และยังต้องติดตามแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมในช่วงปลายปี 2565 ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่า โปรโมชั่นส่วนลดพิเศษจากร้านค้า เป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากปกติมากที่สุด นอกจากนี้ มาตรการของขวัญปีใหม่ของภาครัฐก็มีผลต่อการตัดสินใจใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ที่คาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2566 และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามมาตรการช้อปดีมีคืน
คาดมูลค่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงปีใหม่ 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน….ประชาชนจะใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อเฉลิมฉลองในช่วงเวลาจำกัด โดยมีแรงหนุนจากมาตรการรัฐ
- คนกรุงเทพฯ มีแผนเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่มากที่สุด โดยกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกไปสังสรรค์ที่ร้านอาหาร (56%) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีแผนเดินทางท่องเที่ยว/ทำกิจกรรมนอกบ้าน และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าและวันขึ้นปีใหม่ แม้ว่าสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปลายปี แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นด้านมาตรการสาธารณสุข เพิ่มการป้องกันตนเอง และเลือกร้านอาหารที่มีการจัดพื้นที่ส่วนตัว มีระบบการจองคิวล่วงหน้า เป็นต้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เลือกปรุงอาหารรับประทานที่บ้าน มีสัดส่วนรองลงมา (43%) เพราะมีความสะดวกและเลือกซื้อวัตถุดิบได้ตามงบประมาณ
- แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน (มาตรการฯ) สำหรับการใช้จ่ายในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566 ครอบคลุมเทศกาลปีใหม่ อาจมีผลในการกระตุ้นการช้อปปิ้งซื้อสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป วางแผนจะเพิ่มงบประมาณการซื้อสินค้าเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20% จากค่าใช้จ่ายช้อปปิ้งในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีมาตรการฯ แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคเลื่อนจังหวะการซื้อสินค้ามาให้ตรงกับช่วงมาตรการฯ เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ควบคู่ไปกับการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/ส่วนลดในช่วงเทศกาล ในกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคยังเลือกซื้อ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่กลุ่มตัวอย่างมีแผนจะเลือกซื้อเพิ่มขึ้นตามเทรนด์การดูแลสุขภาพ
- นอกจากนี้ ผลการสำรวจพบว่า การใช้จ่ายในกิจกรรมสันทนาการ เช่น คอนเสิร์ต งานเทศกาล และค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุขในประเทศ นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของหลายประเทศ และความสะดวกในการเดินทาง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายรวมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 30,900 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการกลับมาทำกิจกรรมและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นจากช่วงปีใหม่ปีที่แล้วซึ่งมีการระบาดของโอมิครอน ประกอบกับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการช้อปดีมีคืนที่อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูงที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงเวลาจำกัด 4 วัน ของวันหยุดปีใหม่ (30 ธันวาคม 2565 – 2 มกราคม 2566) และกลับมาวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมหลังช่วงเทศกาล เนื่องจากยังมีความกังวลด้านค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
ทั้งนี้ เม็ดเงินการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2566 ของคนกรุงเทพฯ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเทศกาลปีใหม่ 2561 (ก่อนการระบาดของโควิด-19) แต่การขยายตัวในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำของเทศกาลปีใหม่ 2565 ประกอบกับผลของราคาสินค้าบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่คนกรุงเทพฯ กลับมาทำกิจกรรมตามปกติเพราะโควิด-19 คลี่คลายลง
ศูนยวิจัยกสิกรไทยมองว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ อาจเติบโตได้ดีในช่วงเวลาที่จำกัด ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับธุรกิจยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นนอกจากการส่งเสริมการขายช่วงเทศกาลแล้ว ผู้ประกอบการยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุน และตอบโจทย์ของผู้บริโภคทั้งด้านคุณภาพสินค้าและประสบการณ์ของลูกค้าเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะการใช้จ่ายจากกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้อเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น
- เทรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมในการเลือกซื้อมากที่สุด (65%) โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 35-49 ปี ที่มีแผนเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากที่สุด กว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สนใจซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพทั้งหมด โดยสินค้ากลุ่มนี้ เช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อุปกรณ์ออกกำลังกาย มีแนวโน้มเติบโตได้ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างประชากร และกลุ่มวัยทำงานที่หันมาใส่ใจสุขภาพ นอกจากนี้ เทรนด์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยลำดับรองลงมาที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อ (34%) โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ทั้งในแง่ของการใช้วัสดุรักษ์โลก ลดการใช้สารเคมีที่ทำลายระบบนิเวศ รวมไปถึงสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- การช้อปปิ้งซื้อสินค้าช่วงปีใหม่ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังไปเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้าน ทั้งห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตมากที่สุด (29%) แต่กลุ่มที่เลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ E-marketplace และ Social Commerce (24%) ก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกับการซื้อสินค้าหน้าร้าน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากความสะดวกและความคุ้นเคยในการสั่งซื้อสินค้าเป็นประจำ ประกอบกับมีแคมเปญการตลาดในช่วงปลายปีต่อเนื่อง ดังนั้นการสื่อสารทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (Omni-channel) จึงมีความสำคัญในการสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าและให้บริการที่ต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย สร้างการรับรู้ของแบรนด์ และจัดเก็บข้อมูลลูกค้าสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่อไป รวมถึงการจัดเตรียมระบบการออกใบกำกับภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าตามมาตรการช้อปดีมีคืน