ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และ ความปลอดภัย (Security) ของคริปโทเคอร์เรนซี
หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของบล็อกเชนคือ
'ความโปร่งใส' เนื่องจากธุรกรรมใดๆ ก็ตามที่ถูกกระทำผ่านบล็อกเชน ข้อมูลเหล่านั้น จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องจากเครือข่ายได้
ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในเครือข่ายระบบ ก็จะสามารถมองเห็นการทำธุรกรรมต่างๆ
ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลนั้นก็ตามด้วยเหตุนี้ทำให้
'ความเป็นส่วนตัว' ของผู้ใช้งานบนเทคโนโลยีบล็อกเชนหายไปอย่างสิ้นเชิง
ในอดีตเคยมีกรณีการใช้คริปโทเคอร์เรนซีในตลาดมืดเพื่อซื้อสินค้าผิดกฎหมายหรือฟอกเงิน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ผู้ใช้คริปโทเคอร์เรนซีอาจได้รับการปกปิดตัวตน แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น ดังที่กล่าวไปแล้ว ว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้นเปิดเผยและมีความเป็นสาธารณะ รวมทั้งเหรียญก็ยังมีบันทึกอีกว่า เหรียญนั้นเคยผ่านมือใครมาแล้วบ้าง จึงเป็นการยากที่จะหลบหลีกการตรวจสอบ และเจ้าหน้าที่ราชการก็จับกุมเครือข่ายเหล่านี้มาได้หลายกรณีแล้ว จากการตรวจสอบย้อนกลับไปยังบัญชีผู้ใช้
การตรวจสอบธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซีนั้น ไม่ต่างจากการตรวจสอบธุรกรรมการเงินทั่วไป ผู้ใช้จะต้องให้ข้อมูลส่วนตัวในขั้นตอน Anti-Money Laundering (AML) และ Know Your Customer (KYC) รวมถึงข้อมูลไอพีแอดเดรส (IP address) และพฤติกรรมการใช้จ่าย ดังนั้น แพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ลงทะเบียนไว้ ก็จะมีข้อมูลเพียงพอ หากผู้ใช้มีพฤติกรรมต้องสงสัยและควรได้รับการตรวจสอบ โดยปัจจุบันมีอัลกอรึทึมที่ช่วยในการคัดกรอง ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา IRS หรือหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของสหรัฐอเมริกา FBI สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร ใช้ระบบ CipherTrace, Chainalysis และ Elliptic เพื่อการตรวจสอบเส้นทางการเงินต่าง ๆ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีคริปโทเคอร์เรนซีบางสกุลที่มีวัตถุประสงค์ในการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน โดยพัฒนาโปรโตคอล (Protocol) ที่มีคุณลักษณะพิเศษในการรักษาความเป็นส่วนตัวระดับสูง ในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชน อาทิ Zcoin ที่เน้นการรักษาความลับในการทำธุรกรรมของผู้ใช้งาน ให้สามารถปกปิดเส้นทางหรือที่มาที่ไปของธุรกรรม ทำให้ไม่สามารถตามรอยได้ ด้วยเหตุนี้ เหรียญเหล่านี้จึงถูกมองว่า อาจสามารถใช้เป็นช่องทางในการหลบเลี่ยง การตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์
จากที่กล่าวไปข้างต้น เหมือนจะเข้าทางสำนวนที่ว่า 'ได้อย่างเสียอย่าง' ที่ทำให้ผู้ใช้ต้องเลือกระหว่าง 'ความเป็นส่วนตัว' หรือ 'ความโปร่งใส' Zcoin จึงกำลังพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อตอบโจทย์ ทั้งเรื่อง 'ความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัว' เข้าไว้ด้วยกัน เป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อ สินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น คริปโทเคอร์เรนซี หรือดิจิทัลโทเคน มีคุณสมบัติสำคัญคือ ทุกคนที่ใช้เครือข่ายนี้ สามารถทำธุรกรรมที่มีความเป็นส่วนตัวได้โดยยังใช้เทคโนโลยีของ Zcoin บนบล็อกเซนเพื่อรักษาคุณสมบัติในความโปร่งใส ตรวจสอบได้อยู่ โดยข้อมูลธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะถูกกำหนดการเข้าถึงเฉพาะร้านค้า และผู้ซื้อสินค้าเท่านั้น
เปรียบเทียบกับการที่เราใช้เงินบาทเช่นธนบัตร 100 บาทเพื่อซื้อของกับร้านค้า จะพบว่าการทำธุรกรรมดังกล่าว ร้านค้าและผู้ซื้อสินค้าเท่านั้นที่ทราบว่ามีการทำธุรกรรมระหว่างกัน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีมีความเจริญมากขึ้น การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อทำการโอนเงินระหว่างผู้ซื้อและร้านค้า ก็เป็นเรื่องสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้แอพพลิเคชั่นอย่าง SCB Easy KPlus หรือ ICBC Mobile Bank เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย จากความสะดวกสบายดังกล่าว พบว่าข้อมูลธุรกรรมนั้นๆ ไม่ได้รับรู้แค่ผู้ซื้อและผู้ขายเหมือนการใช้ธนบัตร 100 บาท อีกต่อไปแล้ว เพราะข้อมูลธุรกรรมดังกล่าว ธนาคารต้นทางและธนาคารปลายทางก็สามารถเข้าถึงได้ด้วย
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีบล็อกเชนเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ทุกคนให้ความสนใจ มีการนำไปใช้เพื่อการโอนเงินแบบไม่ใช้แอพพลิชั่นดิจิทัลแบงค์กิ้ง ตัวอย่างเช่น Bitcoin ที่ทุกคนต่างเคยได้ยินชื่อ และมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้นทุกปี แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต่างลืมไปก็คือ การทำธุรกรรมดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่ธนาคารเท่านั้นที่เห็น แต่กลับกลายเป็นว่าทุกคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าว ก็สามารถเห็นได้ด้วย
นั่นจึงเป็นที่มาของ การที่ Zcoin ได้เร่งพัฒนาเครือข่ายที่เชื่อมสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทในโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น คริปโทเคอร์เรนซี่ ดิจิทัลโทเคนที่ทำงานแทนธนบัตรหรือเงินสดที่ออกโดยธนาคารในทุกๆ ประเทศ ให้มีความสามารถในการทำธุรกรรมที่มีความเป็นส่วนตัวสำหรับร้านค้าและผู้ซื้อสินค้าเท่านั้น ที่จะเข้าถึงข้อมูลธุรกรรมได้ เสมือนการใช้ธนบัตรในรูปแบบดิจิทัลอย่างแท้จริง