หากมีการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง จะเกิดอะไรขึ้น?
สถานการณ์ที่นักลงทุนจะต้องติดตามดูในระยะนี้ ได้แก่
1.
COVID-19 จะระบาดในบ้านเรารอบ 2 หรือไม่
2. การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ ครม.ชุดใหม่ จะไปได้ดีหรือไม่ เพราะจนป่านนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่แน่ใจว่าท่านใดเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง แม้จะมีข่าวว่านายกรัฐมนตรีท่านจะเป็นเอง โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจที่ตั้งขึ้นใหม่อีก 2-3 แห่ง
3.
SME จะรอดไหม และ NPL ของธนาคารต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอีกขนาดไหน
4. จำนวนคนว่างงานจะบานปลายไปอีกหรือไม่
5. ความร้อนแรงในการชุมนุมทางการเมืองอันเกิดจากการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีการกระจายตัวออกในวงกว้าง ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะฝั่งรัฐบาลหรือฝั่งฝ่ายค้านก็ต้องการให้เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อด้วยการยุบสภา เลือกตั้งใหม่
นอกเหนือจากนี้ก็คือ นโยบายต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ที่จะส่งผลกระทบต่อบ้านเรา
ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า นี่คือเศรษฐกิจเรือนแสน...แสนสาหัส
แต่จะแสนสาหัสขนาดไหน “รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์แก่ WAY
Magazine ความว่า ...
“ใครก็ตามที่เข้ามาบริหารเศรษฐกิจตอนนี้คือ “ซวย” ถ้าจัดการวิกฤติให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปีได้ ก็ถือว่าโชคดี แต่ผมคิดว่า เกิน 5 ปี แล้วถ้าเกิน 5 ปีเนี่ย เศรษฐกิจจะทรุดลงไปอีกมาก
วิกฤติในปัจจุบันไม่ใช่วิกฤติที่เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจล้วนๆ ไม่ใช่วิกฤติที่เกิดจากคนว่างงานเยอะหรือเงินเฟ้อสูง แต่วิกฤติอันนี้พื้นฐานมาจากโรคระบาด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยมีระบบการวิเคราะห์ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
อ่านแล้วไม่ต้องจิตตก เพราะเป็นเรื่องจริงที่เราๆ ก็มองเห็นกันอยู่แล้ว ปฏิเสธไม่ได้นอกจากเอาใจช่วยให้ทุกคนสามารถครองสติ หาหนทางให้ผ่านพ้นอาการ “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก พระอาทิตย์แหก พระจันทร์ลา” ในครั้งนี้ไปได้โดยเสียหายน้อยที่สุด หรือไม่เสียหายเลย
ทีนี้ลองมาดูสถิติผลกระทบของการชุมนุมประท้วงทางการเมืองกรณีเกิดขึ้นต่อเนื่อง
และขยายตัวมากขึ้น ว่าจะกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างไรกันบ้าง
เรื่องนี้ ฝ่ายวิจัย ASP ได้เปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต ช่วง 1 เดือนแรกของเหตุการณ์การชุมนุมสำคัญๆ ทั้งในช่วง พ.ค. 2551 มี.ค. 2553 และ ต.ค. 2556 ในมุมการเคลื่อนไหวของ SET Index, Fund Flow และค่าเงินบาทไว้ ดังนี้
SET Index ตอบสนองเชิงลบปรับตัวลดลงเฉลี่ย 3.87% ในช่วง 1 เดือนหลังชุมนุม และเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกทุกครั้ง
- ปี 51 SET Index ลดลง 12.2%
- ปี 53 เพิ่มขึ้น 4.2% (เป็นช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อแก้ Hamburger
Crisis ทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินไหลเข้าตลาดหุ้นทั่วโลก)
- ปี 56 ลดลง 4.2%
ต่างชาติขายสุทธิเฉลี่ย -2.08 หมื่นล้านบาท ในช่วง 1 เดือนหลังชุมนุม
- ปี 51 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย -4.2 หมื่นล้านบาท
- ปี 53 ต่างชาติซื้อสุทธิ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ (ซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคทุกประเทศ)
- ปี 56 ต่างชาติขายสุทธิ -5.0 หมื่นล้านบาท
เบี้ยประกันความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ไทย (CDS
Spread 5 ปี) เร่งตัวขึ้นทุกรอบที่มีการชุมนุม ในช่วง 1 เดือนหลังชุมนุมเฉลี่ยราว 25
bps.
CDS : Credit Default Swap คือ เครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยง ส่วน CDS spread : คล้ายๆ เบี้ยประกัน โดยคิด % ของเงินกู้ จะมากหรือน้อย ขึ้นกับความเสี่ยงว่ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้, มาก/น้อย หากสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้น
ค่าเงินบาทมักอ่อนค่าในช่วงเวลาต่อมาในช่วง 1 เดือนหลังชุมนุม
ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นตัวกดดันต่างชาติชะลอการตัดสินใจลงทุน รวมถึงหากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้มีการเร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้ Fund Flow ยิ่งชะลอการไหลเข้า
ฝ่ายวิจัย ASP สรุปว่า ที่ผ่านมานั้น
นักลงทุนให้ความสำคัญเรื่องของผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองที่จะทำให้เศรษฐกิจอาจไม่สามารถดำเนินได้เต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งส่งผลลบต่อดัชนีตลาดหุ้น Fund Flow ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้และค่าเงินบาท ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น การชุมนุมในปัจจุบันถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติ และกดดันเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย