THE GURU • MONEY&US

จัดพอร์ตลงทุนปี 2020

บทความโดย: วรวรรณ ธาราภูมิ

            ในปีที่ผ่านมานี้แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนหลายอย่างจะไม่ได้แย่ตามความรู้สึก โดยเฉพาะการลงทุนหุ้นในต่างประเทศหลายแห่งที่ให้ผลตอบแทนกว่า 20% แต่สิ่งที่ต้องระวังกันต่อไปคือแก่นแท้ของเศรษฐกิจยังมีปัญหา ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นต่อไปในปี 2563 นี้ จะมีการล้มตายและเกิดใหม่ ซึ่งกิจการใดจะอยู่รอดได้ก็ต้องปรับตัวให้รองรับการเปลี่ยนแปลงจาก Megatrends ต่างๆ ให้ดี

          ความมีสติ รอบคอบ ไม่ประมาท ทั้งการใช้ชีวิตและการลงทุน จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราทุกคน แต่จะอย่างไรก็ตาม เราก็ยังต้องจัดพอร์ตลงทุนตามวัตถุประสงค์เป็นเรื่องๆ ไป คือเงินส่วนไหนลงทุนระยะยาวได้ก็ต้องลงทุนให้เหมาะสมกับระยะเวลา เงินส่วนไหนจะต้องเก็บไว้ใช้ในเวลาอีกไม่กี่ปีก็ไม่สมควรลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง

            นอกจากนี้ ก็ต้องคำนึงถึงอายุด้วย เพราะผู้ที่อายุยังน้อยจะสามารถลงทุนระยะยาวได้ สามารถจัดพอร์ตแบบเสี่ยงสูงได้ ทำให้มีสัดส่วนของหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้มากกว่าผู้ที่อายุมากหรือเกษียณไปแล้ว เพราะพอร์ตการลงทุนสำหรับผู้สูงอายุจะต้องเน้นความมั่นคงเป็นประเด็นหลักมากกว่าผลตอบแทนสูงๆ

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมในปีนี้ก็คือ การให้ความสำคัญกับแผนรองรับความเสี่ยงด้านการเงิน เพื่อทำให้มีเงินจำนวนหนึ่งไว้ใช้จ่ายตามความจำเป็นถ้าเกิดเหตุการณ์เลวร้ายจนทำให้เราขาดรายได้ไป รวมถึงจะต้องปรับปรุงพอร์ต โดยจัดสัดส่วนสินทรัพย์ที่ลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจให้มากขึ้นด้วย

 แผนรองรับความเสี่ยง

จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

              สิ่งสำคัญและจำเป็นในแผนก็คือ เงินสำรองยามฉุกเฉิน

            เงินส่วนนี้ตามปกติมักจะแนะนำให้กันไว้สัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เผื่อตกงานจะได้สามารถดำรงชีพได้สัก 6 เดือน ก่อนจะหางานใหม่ได้

             แต่ยุคนี้จะต้องคิดว่าที่สำรองไว้ 6 เดือนนั้นจะเพียงพอในสภาวะเศรษฐกิจข้างหน้านี้หรือไม่ เพราะมนุษย์เงินเดือนอาจจะตกงานเมื่อไรก็ได้ ถ้ากิจการของนายจ้างไปไม่ไหว หรืองานของเราถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และเมื่อตกงานแล้วเราอาจต้องใช้เวลาหางานใหม่นานขึ้น อาจจะเกิน 6 เดือน ดังนั้น เงินสำรองยามฉุกเฉินที่เคยกำหนดเป็น 6 เดือนก็ควรต้องมีเพิ่ม โดยเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และสามารถถอนออกมาใช้ง่าย โดยเรื่องผลตอบแทนของเงินส่วนนี้ไม่สำคัญเท่าความปลอดภัยและต้องสามารถถอนออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้

            ผู้มีอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ มีรายได้ขึ้นกับค่าคอมมิสชั่นไม่ใช่รับรายได้ประจำเป็นเงินเดือนก็เช่นกัน ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี จะขายของยากขึ้น รายได้น้อยลง จึงต้องประเมินสิ่งเหล่านี้เข้าไปในการจัดเงินสำรองยามฉุกเฉินด้วย เช่นเดิมเคยสำรองไว้เฉพาะกรณีตกงานก็ต้องจัดไว้กรณีรายได้ลดลงไม่เพียงพอต่อรายจ่ายเพิ่มเติมอีกก้อนหนึ่ง ประกอบกับการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง รัดเข็มขัด ลดสันทนาการลง

 

 วิธีการ Revise พอร์ตในแต่ละ Asset Class ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

 

            การที่เศรษฐกิจไม่ดี ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องขายหุ้นแล้วคงเงินในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าเสมอไป เพราะแม้จะลดความเสี่ยงได้ แต่ก็ไปทำลายโอกาสของผลตอบแทน และทำให้แผนการเงินของเราไม่บรรลุเป้าหมายไปด้วย

             แม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะต้องเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ในระยะสั้นๆ ถึงระยะกลาง ผลตอบแทนจากการลงทุนหรือราคาที่เพิ่มขึ้นลดลงก็มีตัวแปรอื่นเกี่ยวข้องมากมาย อย่างปี 2562 ทั้งปี พวกเราบ่นกันเรื่องเศรษฐกิจแย่ ค้าขายยาก กิจการซบเซา ลูกค้าหาย แต่ราคาหุ้นบางกลุ่ม ราคาสินทรัพย์หลายอย่าง กลับเพิ่มขึ้น เพราะยังมีเงินล้นระบบและมีการหนุนโดยนโยบายการเงินของรัฐบาลในประเทศหลักๆ

            ถ้าเรากลัวแล้วเงินลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์เสี่ยงหรือหุ้นออกไป เราก็พลาดโอกาส และอย่าลืมว่าในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยแบบนี้ ผลตอบแทนจากตราสารหนี้ตกต่ำจนแทบไม่ได้อะไร ผลตอบแทนจากหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงประเภทอื่นๆ ที่จะสร้างผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวยังมีอยู่

            ดังนั้น Staying Invested Through All Market Cycles จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงให้ดี

 

การ Revise แผนลงทุนในแต่ละ Asset Class

              ขอให้ทุกท่านนำพอร์ตของตัวเองมาแกะดูก่อน ถือโอกาสสังคายนาเลยก็ดี ถ้าคนที่ลงทุนเองโดยตรงไม่ผ่านกองทุน เรื่องนี้จะยิ่งสำคัญ เพราะสิ่งที่เราลงทุนอาจมีความเสี่ยงโดยตรงจากเศรษฐกิจที่ซบเซาได้ ถ้าเลือกไม่ดี

             ส่วนที่เป็นตราสารหนี้ก็ขอว่าอย่าได้วางใจ เพราะแม้ตอนซื้อจะเป็น Investment Grade หรือเจ้าของบริษัทค้ำประกัน แต่ถ้ากิจการไม่ดี Rating ที่เคยได้รับมันก็ร่วงลงได้ง่ายๆ ดังนั้น จะต้องมองว่ากิจการนั้นจะมีรายได้จากใคร ลูกค้าหน้าตาแบบไหน กลุ่มไหน ลงทุนแล้วไว้ใจได้แค่ไหนว่าจะสามารถคืนเงินให้เราได้ครบถ้วนพร้อมดอกเบี้ยตามที่กำหนด

              ถ้าลงทุนผ่านกองทุนรวมก็ต้องประเมินข้อมูลล่าสุดว่าในระยะกลาง-ยาว ประเทศนั้นๆ ภูมิภาคนั้นๆ ยังมีจุดแข็งอะไรหรือไม่ หุ้นที่จดทะเบียนในประเทศนั้นเป็นอย่างไร มีรายได้จากไหน เพราะปัจจุบันโลกเชื่อมกันหมด แม้ว่าจะจดทะเบียนในอเมริกาแต่ก็ค้าขายไปทั่วโลก เราจึงไม่ควรวิเคราะห์แต่เฉพาะตลาดอเมริกา เป็นต้น

 

            ถ้าลงทุนใน Sector Fund หรือ Theme Fund ก็ต้องประเมินด้วยว่า Sector นั้น หรือ Theme นั้น ยังน่าสนใจเหมือนตอนที่เราซื้ออยู่หรือไม่

 

            แต่ถ้าเลือกกองทุนรวมแบบไม่เจาะจง ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนในการปรับพอร์ตดูแลพอร์ต เราก็ต้องดูว่าในช่วง 3-5 ปีที่เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ผลงานของกองทุนเป็นอย่างไร อย่าเทียบแต่ตัวเลขกำไรขาดทุน แต่ให้เทียบกับกองทุนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่เป็นแบบเดียวกันด้วย ไม่ต้องไปสนใจว่าต้องเป็นอันดับ 1 หรืออยู่ใน Top 5 เพราะอันดับเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ให้ดูว่าผลตอบแทนโดยรวมเทียบกับความผันผวนเป็นอย่างไร (ตรงนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ขอให้ บลจ.แต่ละแห่งบอกข้อมูลของกองทุนแต่ละกองอยู่แล้ว เราสามารถเปรียบเทียบได้)

 

            เมื่อดูแล้วถ้าพบว่าพอร์ตของเราก็ไม่ได้แย่ กองทุนที่ถืออยู่ก็ยังไม่แย่เมื่อเทียบกับคู่แข่งในหลายๆ ช่วงผลการดำเนินงานระยะกลาง-ยาว แบบนี้ก็ลงทุนต่อได้ แต่ถ้าดูแล้วเริ่มไม่สบายใจกับกองนั้น หรือ Sector นั้น หรือ Theme เริ่มมีปัญหา ไม่น่าสนใจเหมือนเดิม ก็ขอให้ลองดูกองทุนอื่นๆ แต่ยังเป็นคลาสเดิมคือกองทุนหุ้น เพื่อ Staying Invested อย่าหนีไปตราสารหนี้ถ้าเป็นเงินลงทุนระยะยาว เพราะแทบจะไม่ได้อะไร แล้วจะเสี่ยงที่เป้าหมายทางการเงินจะไม่บรรลุ เพราะแทบไม่มีผลตอบแทนงอกเงย

 

ความสำคัญของหุ้นในพอร์ต

 

             ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ราคาหุ้นตก เรายังมีโอกาสได้ซื้อของถูก แต่ถ้าเราหยุดลงทุนจะเท่ากับปิดโอกาสตัวเองทันที จะอย่างไรหุ้นก็ยังสำคัญแม้ในระยะสั้นๆ อาจดูไม่ดี แต่ระยะยาวยังคงเป็น Asset Class ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนดีที่สุดโดยเปรียบเทียบ จึงขอสรุปว่าหุ้นยังเป็น Asset Class ที่

ดีที่สุดสำหรับเงินส่วนที่ลงทุนระยะยาวได้ แต่ต้องเป็นหุ้นของกิจการที่จะไปได้ดีกับ Megatrends ด้วย โดยหุ้น New Economy เป็นหุ้นที่เราต้องแสวงหา ไม่ใช่หุ้น Old Economy แบบเดิมๆ ที่มีอยู่เต็มตลาดหุ้นไทย

            ก็หวังและขอเป็นกำลังใจให้หุ้น Old Economy เหล่านั้นสามารถปรับตัวจนผ่านพ้นช่วงต่อจากนี้ไปให้ได้ และกลายเป็นหุ้น New Economy ไปในที่สุด

 


เกี่ยวกับนักเขียน

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน