ปัญหาหนักของคนมีเงินในวันนี้
ผู้ลงทุนที่ตกรถในปีก่อนพากันถามมาว่า “แล้วปีนี้จะยังดีอยู่อีกไหม หรือว่าลงทุนไปแล้วกลายเป็นเข้าที่ยอดดอย” และ “ลงทุนแล้วตอนแรกๆ ก็ดี แต่ผ่านปีสองปีกลับแย่ลง” นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้มีเงินมาก อดทนกับความผันผวนที่ทำให้ขาดทุนในบางช่วงไม่ได้ ยังลงทุนระยะยาวมากๆ ไม่ได้
นอกจากคำแนะนำแบบไม่เฉพาะเจาะจงให้คนอายุน้อยกับมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ
ไปแบ่งรายได้ไปลงทุนทุกเดือนให้เหมาะกับเป้าหมายของแต่ละคนแล้ว ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา
ข้าพเจ้าได้พบกับผู้มีเงินสะสมแล้วตั้งแต่หลักสิบล้านไปจนถึงหลักร้อยล้าน
ที่บ่นว่าไม่รู้จะทำอะไรดีกับเงินที่มีอยู่
โดยที่เงินจำนวนนี้บางคนต้องถอนมาใช้ประจำเพราะเกษียณแล้ว
บางคนอายุ 40-50 ปี ยังมีรายได้ จึงไม่ต้องถอนมาใช้ ส่วนบางคนก็มีเงินร่วมพันล้านบาท จึงไม่ต้องกังวลเรื่องเกษียณหรือยัง
แต่ไปกังวลเรื่องผลตอบแทนกับความปลอดภัยของเงินที่มีอยู่แทน
ทุกปัญหาของพวกเขา ล้วนมาจากความกังวลเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
และมีทีท่าว่าจะต่ำลงได้อีก เพราะเศรษฐกิจยังไม่มีทีท่าว่าจะดี โดยไม่ใช่อาการแบบหัวทิ่มทันทีจากเหตุการณ์ช็อกที่พอผ่านไปไม่นานก็โงหัวขึ้นได้
แต่มีอาการแบบซึมลึกลงไปเรื่อยๆ จากหลายสาเหตุที่ประดังประเดกันเข้ามาทับถม
ครั้นจะย้ายเงินจากตราสารหนี้ไปลงทุนในหุ้นก็ยังไม่เห็นว่าจะไปได้ดี และกลัวขาดทุนจนกินเงินต้น
สรุปก็คือ ต่างไม่ยอมรับความเสี่ยง แต่อยากได้ทั้งความปลอดภัยของเงินต้น
กับผลตอบแทนสูงๆ นั่นแหละ ซึ่งเป็นไปไม่ได้
สิ่งเหล่านี้เคยแนะนำไปแล้วหลายครั้งว่า
ให้กระจายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ทางการเงินหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะหุ้น ตราสารหนี้
อสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ ฯลฯ และให้กระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่นด้วย
แต่ปัญหาก็คล้ายๆ กับประเทศอื่นๆ คือผู้ลงทุนมี Home Bias ยึดติดกับประเทศตนเองเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ดี แนวโน้ม Home Bias นี้ก็เริ่มคลี่คลายลงเมื่อผู้ลงทุนมองเห็นผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศในปีที่ผ่านมาที่หลายๆ
ตลาดหุ้นกับหุ้น IT Sector ให้ผลตอบแทนกว่า 20% เลยทีเดียว
แต่ปัญหาก็ยังตามมาอีกในปีนี้
เพราะผู้ลงทุนที่ตกรถในปีก่อนพากันถามมาว่า “แล้วปีนี้จะยังดีอยู่อีกไหม
หรือว่าลงทุนไปแล้วกลายเป็นเข้าที่ยอดดอย” และ “ลงทุนแล้วตอนแรกๆ ก็ดี แต่ผ่านปีสองปีกลับแย่ลง”
นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะผู้มีเงินมาก อดทนกับความผันผวนที่ทำให้ขาดทุนในบางช่วงไม่ได้
ยังลงทุนระยะยาวมากๆ ไม่ได้
เมื่อพิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้า
กับพฤติกรรมและการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนกลุ่มนี้แล้ว
จึงขอแนะนำว่านอกจากจะให้กระจายการลงทุนแล้ว ขอให้กำหนด “ความพอเพียงของตนเอง” เอาไว้ด้วย
ความพอเพียงที่ว่านี้ คือการกำหนดผลตอบแทนเป้าหมายที่ตนเองพอใจไว้
แล้วก็ต้องขยันๆ ดูเอาเองด้วยว่า การลงทุนนั้นถึงเป้าหรือยัง หากถึงเป้าหมายผลตอบแทนที่ต้องการแล้วก็ถอนออกมาพักเงินในตราสารหนี้หรือเงินฝากเสีย
แล้วต้องระงับความโลภให้อยู่ด้วย
ไม่ต้องไปเสียดมเสียดายหากเห็นว่าเมื่อเราถอนเงินลงทุนออกมาแล้วยังขึ้นไม่หยุด
ซึ่งปัญหาที่จะตามมาก็คือ อยากจะกลับเข้าไปลงทุนอีก แต่ไม่รู้จะเข้าตอนไหนเพราะราคาไปไกลแล้ว
เลยต้องรอให้มีอะไรมากระแทกให้ราคาลงมามากๆ ก่อน
ดังนั้น
หากจะใช้วิธีนี้ก็ต้องทำใจล่วงหน้าว่าเราอาจพลาดได้ แต่คำตอบก็คือ เรากำหนดความพอเพียงไว้แล้ว
เพื่อกันความเสี่ยงในความไม่แน่ไม่นอนของอนาคตที่มองไปปีสองปีก็ยังไม่ได้สดใสอะไรเลย
ดังนั้น ต้องทำใจ
การแนะนำแบบนี้ แม้ค้านกับการให้ลงทุนระยะยาว
และมีความเสี่ยงสูงในการพลาดโอกาสดีๆ แต่หากใครอดทนรอคอยไม่ไหวและไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในอนาคตช่วงข้างหน้า
สิ่งที่แนะนำนี้ก็น่าจะมีประโยชน์บ้าง
นอกจากนี้ เมื่อมองเศรษฐกิจในวันข้างหน้าแล้ว
คิดว่าเป็นโอกาสดีที่คนมีเงินจะสั่งสอนลูกหลานให้เห็นถึงวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่มีขึ้น
มีลง มีทรง มีทรุด เพื่อให้เขาเข้าใจวงจรเศรษฐกิจ มีความเตรียมพร้อมเสมอ
ไม่หลงระเริงในยามรุ่งเรือง ไม่หดหู่จนไม่คิดปรับปรุงตนเอง และโยงมาถึงการเงินในครอบครัว
และขอให้เกื้อกูลคนที่ด้อยกว่า เพราะการให้คือความสุขอันนำมาซึ่งความปิติอิ่มเอม...เมื่อจิตใจผ่องใสเบิกบาน
สุขภาพก็จะดีมาก ซึ่งสุขภาพกายใจของเรานั้นสำคัญกว่าสุขภาพทางการเงินแน่ๆ
ส่วนธุรกิจที่พอไปไหว ก็อย่าซ้ำเติมด้วยการลดลูกจ้าง
ประคับประคองกันไปก่อน รวมถึงเกื้อกูล Supply Chain ดีๆ
ของท่านเท่าที่จะทำได้ เพื่อจูงมือกันให้ผ่านพ้น และในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว
เป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะทบทวนโมเดลธุรกิจ
ปรับปรุงการปฏิบัติงานภายในซึ่งไม่มีเวลาทำในยามธุรกิจเติบโตเร็ว
สำหรับคนที่เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่เศรษฐีอะไร
ก็ต้องดูแลด้านการเงินของตนเองให้ดี อย่าก่อหนี้เพิ่ม อย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
และต้องทำงานด้วยความสามารถอย่างขยันขันแข็ง
โดยแสวงหาความรู้ที่มีประโยชน์เพิ่มเติมอยู่เสมอ
เพราะเราต้องทำให้นายจ้างเห็นคุณค่าในตัวเราให้มากๆ
หากเราไม่มีคุณค่าเขาจะให้ออกจากงานก็โทษเขาไม่ได้ นอกจากนี้
ก็ต้องเผื่อเงินสำรองยามฉุกเฉินให้มากขึ้น
นี่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่มีชะตากรรมร่วมกัน
หากมัวแต่ทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น ไม่ทำหน้าที่ของตน ไม่ดูแลจากหน่วยเล็กๆ
อย่างครอบครัวตน กิจการของตน รอแต่พึงพารัฐบาล ก็เตรียมตัวลงเหวไปด้วยกันได้เลย
ใครสายป่านสั้นก็ลงเหวไปก่อน
ส่วนใครสายป่านยาวก็เก็บศพคนอื่นไป ก่อนที่จะตามไปในภายหลัง