THE GURU • MONEY&US

ในสงครามต้องมีผู้กล้าที่ยอมสละชีพ

บทความโดย: วรวรรณ ธาราภูมิ

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มาจนถึงปัจจุบัน โลกเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ซึ่งอาจจะตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ยากที่บอกได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ และจบในสภาพไหน 

วิกฤติ COVID-19 มีข้อจำกัดที่ว่า

       1. เรายังไม่มียาต้านทาน แต่อาจจะผลิตได้สำเร็จภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า กับ

       2. Facilities และบุคลากรทางการแพทย์จะไม่เพียงพอในการรับมือกับผู้ป่วย ถ้าการแพร่เชื้อยังอยู่ในอัตราเร่ง...จึงเป็นที่มาของการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อชะลอให้กำลังทางการแพทย์รับมือไหว และเป็นที่มาของ Work From Home กับการปิด หรือจำกัดการเข้าออกระหว่างประเทศ หรือจังหวัด

เมื่อต้องปิดสถานที่ต่างๆ โดยให้ทำงานทางไกล งดการท่องเที่ยว การแพร่ระบาดของโรคจึงลดลงได้ แต่ปัญหาใหญ่ก็ตามมาดังคาด กิจการต่างๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ล้วนขาดรายได้ เพราะคนเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตแบบ 360 องศา หลายแห่งต้องลดเงินเดือนพนักงาน และหลายแห่งต้องปิดตัว คนตกงาน ไม่มีปัจจัยดำรงชีวิต ส่งผลกระทบต่อสังคมในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ

แน่ละ เมื่อมีมาตรการใดๆ ออกมา ก็ต้องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีการสนับสนุน มีการคัดค้าน จนถึงขนาดจองกฐินสาปแช่งก็เป็นกันทุกประเทศนั่นแหละ

แต่จะอย่างไร รัฐบาลเขาก็ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งแบบไม่มีทางสายกลางให้เดิน ระหว่างปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ปิดกั้น ไม่ Lock Down อะไรทั้งสิ้น เพื่อให้เชื้อแพร่กระจายจนคนมีภูมิคุ้มกัน และเศรษฐกิจจะไม่เสียหายเพราะยังไปทำงานได้ กับชะลอการแพร่กระจายเพื่อให้ระบบสาธารณสุขรองรับไหวจนกว่าจะมียาต้านไวรัส ด้วยการ Lock Down ซึ่งแน่ละ จะส่งผลเสียต่อธุรกิจและจะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นมาก

ผลก็คือรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมทั้งรัฐบาลบ้านเราเขาเลือกอย่างหลัง และมีการเตรียมการล่วงหน้าในการรับมือโดยจัดมาตรการการเงินการคลังแบบ ชุดใหญ่ไฟกะพริบ เพื่อประคับประคองให้พลเมืองของเขาผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้ เพราะเขาถือว่า ชีวิตคนสำคัญที่สุด อะไรทำได้ ช่วยได้ ต้องทำอย่างเต็มที่ เรียกว่า ขอเอาชีวิตรอดในวันนี้ แล้วค่อยไปแก้หนี้ในวันหน้า นั่นแหละ

เพราะถ้าไม่ทำก็อาจเกิดวิกฤติตัวที่ 3 คือความรุนแรงในบ้านเมืองอันเกิดจากคนไม่มีจะกิน ซึ่งเลยเถิดไปถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศได้ เหมือนที่เคยเกิดในบ้านอื่นเมืองอื่นมาแล้วหลายยุค

ใครที่เป็นรัฐบาลในยุคนี้ล้วนน่าสงสารมาก เพราะนอกจากจะแก้วิกฤติได้ยากแล้ว ยังจะถูกด่าทั้งในวันนี้และโดนจองกฐินไปถึงวันหน้าได้อีกยาวนาน โดยที่ท่านไม่มีทางเลือกอะไรเลย

ก็ขอเอาใจช่วย และแนะนำให้รัฐทำประกันการปฏิบัติหน้าที่ (โดยสุจริต) ที่จะ Cover ท่านได้ตลอดชีวิตในกรณีมีการฟ้องร้องอะไรในอนาคต และการประกันนั้นควรครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดีและค่าทนายต่างๆ เอาไว้ด้วย...ในสงครามต้องมีผู้กล้าที่ยอมสละชีพ

ยังมีเรื่องที่น่าสนใจเพิ่มเติม

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ท่านสรุปผลการประชุมทางไกล 90 คน ของนักวิเคราะห์อนาคต นักออกแบบ นักเทคโนโลยี ผู้ออกแบบนโยบายสาธารณะหลายประเทศทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่สำรวจประเมินด้วยซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย MIT จนรวมความคิดเห็นมาได้ว่า ถ้า COVID-19 ต้องอยู่กับสังคมโลกไปแบบยาวข้ามปี...จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมฝรั่ง (สังคมไทยก็น่าจะไม่หนีกันเท่าไหร่)…ท่านระบุว่า

      1. เลือกที่จะปล่อยกลไกตลาดให้จัดตัวเองไป

ฝรั่งตั้งชื่อแบบจำลองแรกนี้ว่า "Piramid" ซึ่งมีผู้อยู่บนยอดพีระมิดน้อยราย มีฐานไล่ลำดับทับเรียงเอาเปรียบกันลงมาเรื่อยๆ จนถึงข้างล่างสุด นั่นคือกลุ่มผู้มั่งมีจะเข้าช้อนซื้อสินทรัพย์จากผู้เดือดร้อนในราคาถูกๆถ่างความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมให้หนักขึ้นไปอีก

ผลก็คืออีกไม่นาน สังคมที่ถูกเอาเปรียบจะหา "แพะมารับบาป" เพราะความโกรธ 

      กลุ่มการเมืองในสังคมฝรั่งจะผุดกลุ่มใหม่ๆ มากมาย มาชี้นิ้วและนำม็อบออกมาเพื่อหา "แพะ"

      กลุ่มมาเฟียติดอาวุธในมุมมืดจะแสดงตนทั้งเพื่อคุ้มครองและฉกฉวย

แน่นอนว่าทุกรัฐที่ปล่อยไปจนต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนั้นจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องใช้กำลังของรัฐที่เหนือกว่าเข้าปรามและควบคุม และอาจมีการปะทะ เกิดความรุนแรงเพื่อให้สังคมอยู่ในความสงบนิ่งทั้งทางออนไลน์และนอกออนไลน์ ซึ่งรัฐเหล่านั้นจะจำต้องล้วงข้อมูลบุคคลออกมาวิเคราะห์และจำแนกความเสี่ยงกันยุ่งนุงนัง

สังคมจะเกิดความกดดันและการแกะแก้ที่ซับซ้อนเพราะทุกอย่างจะไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และกว่าจะสงบลงได้ก็จะนาน

     

      2. การปรากฏขึ้นของผู้ชี้นำที่น่านับถือ

อันนี้ฝรั่งเลือกใช้ศัพท์แทนด้วยคำว่า "The leviathan" โดยแนะว่า รัฐบาลฝรั่งอาจต้องเลือกใช้อำนาจเข้าควบคุมกิจการเท่าที่จำเป็น เพื่อบริหารให้เจ้าใหญ่ในตลาดต้องกระจายทรัพยากร กระจายสินค้าและของจำเป็นให้ไปถึงมือภาคประชาชนอย่างเป็นธรรม

จากนั้นรัฐก็ลงทุน (อาจจะจากเงินกู้ยืมแบบต่างๆ) เพื่อนำมาเล่นบท "ผู้ว่าจ้างงานสาธารณะรายใหญ่" ทำให้ประชาชนมีงานทำ ได้ค่าตอบแทนตามสมควร และงานที่จ้างจะเน้นที่ความยั่งยืนของอนาคต และ/หรือ เป็นความจำเป็นพื้นฐาน เช่น ได้ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้ความเอื้ออาทรดูแลกันในสังคม ดูแลคนอ่อนแอ ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างน่าหดหู่

 แนวนี้ผู้วิเคราะห์ชี้ว่าต้องอาศัยผู้นำที่เสียสละสูงมาก สร้างศรัทธาเชื่อมั่นให้คนในสังคมเห็นว่าไม่มี ใครได้เปรียบและทุกคนจะเริ่มยอมเหนื่อยยากไปด้วยกันจนกว่าสถานการณ์จะจบลง

อย่างไรก็ดี แนวทางนี้ตอนจบ ทุกคนจะต้องยอมเจออีก "ก๊อกนั่นคือการร่วมชำระหนี้สาธารณะก้อนโตไปด้วยกัน แปลว่า ภาษีของฝรั่งในวันที่ฟ้าสว่าง จะต้องสูงขึ้น และฐานต้องกว้างขึ้นอย่างมาก แนวนี้เน้นปลุกระดมการรับผิดชอบร่วมกัน


      3. รักษาบ้านเมืองด้วยการดูแลชุมชนให้เข้มแข็ง

ฝรั่งเรียกแนวนี้ด้วยคำว่า "The village" คือส่งมอบความไว้วางใจให้ชุมชนได้จัดการตนเอง ชุมชนจะเร่งสร้างระบบภายในที่พึ่งพากันเอง ทั้งการเงิน การดูแลความมั่นคงทางอาหาร และการได้รับปัจจัยสี่ หลายอย่างของชุมชนอาจมีการฝ่าฝืนกฎหมายและกติกากลางไปบ้าง แต่ไม่ใช่เพื่อฮุบมาเป็นของคนใดคนหนึ่งแต่ทำเพื่อชุมชนโดยรวม (ซึ่งจะมีทั้งที่เหมาะและไม่เหมาะ เช่น อาจตกลงยึดที่ป่า ลำน้ำหรือที่สาธารณะมาใช้ประโยชน์ชุมชนในระดับที่มากเกินไป

ในทางเลือกนี้ สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ชุมชนเข้มแข็งขึ้นทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ การปะทะประลองกำลังกันในระดับท้องถิ่นจะเกิดขึ้นมากมาย แต่ในที่สุดจะสงบลงตามระดับการต่อรองที่ยอมรับกันเองได้ต่อไป

แต่ทั้งหมดนี้จะอยู่ได้อย่างเปราะบาง เพราะชุมชนส่วนมากมักไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะต้านภัยจากภายนอกได้นานนัก อีกทั้งจะก่อให้เกิดการเข้ารวมกลุ่มย่อยๆ เพื่อให้กลุ่มตัวเอง "รอด" ด้วยการขีด กั้น กันผู้อื่นไม่ให้เข้าใกล้

ชุมชนอาจดูเข้มแข็ง แต่สังคมประเทศอาจจะต้องร้าวลึก

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ให้ความคิดต่อยอดว่า การล็อกดาวน์ในแต่ละระดับที่นานพอ ย่อมทำให้มนุษย์ทุกคนปรับตัว และเมื่อปรับตัวนานพอก็จะกลายเป็นบุคลิกใหม่ เป็นมารยาทสังคมใหม่ การออกแบบร่วมกันว่าจะผสมผสานทางเลือกข้างต้นอย่างไรจึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราคนไทยและเพื่อนๆ รอบบ้านอาจนำไปขบคิดต่อ

เรายังพอมีจังหวะ และยังไม่ช้าไปในการรื้อชุดความคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ การกำหนดบทบาทของกันและกันในท่ามกลางโควิด ที่จะร่วมกันรับผิดชอบต่อส่วนรวม รับผิดชอบต่อการเปิดและการคลายล็อกลงตามจังหวะเมื่อเหมาะสม และพร้อมรับการต้องปิดล็อกดาวน์ใหม่ไปอีกเป็นจังหวะ...เป็นระยะ
 หากใช้เวลานี้เรียนรู้พัฒนาสูตรทางเศรษฐกิจและสังคมแบบใหม่ๆ ไปด้วยกัน เราจะสามารถร่วมกันสร้างหรือผสมสูตรแห่งความสมดุลที่จะเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และใช้เป็นฐานสร้างโอกาสให้อนาคตประเทศได้นานๆ ทั้งระหว่างล็อกดาวน์และเมื่อหลังโควิดก้าวผ่านไป

อ่านที่ท่านเขียนก็บอกได้ว่าตรงใจ และขอสนับสนุนให้พวกเราช่วยกันคิด เพื่อนำเสนอต่อผู้นำของประเทศในโอกาสที่เหมาะสม

โจทย์เปลี่ยน โลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนนโยบายรัฐก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้

เกี่ยวกับนักเขียน

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน