เปิดยุคทอง Blockchain R3 ชี้ CBDC เป็นประตูสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ปี
65 Blockchain ฮอตสุด
คาดมูลค่าตลาดทะลุแสนล้านดอลลาร์ จับตาเทคโนโลยี DAO มาแรง ชี้ CBDC จะเป็นประตูพาไทยก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ปัจจุบัน Blockchain คือเทคโนโลยีหลักสำหรับองค์กรที่ต้องการลดความเสี่ยง
เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และส่งเสริมให้องค์กรเดินหน้าสู่โลกธุรกิจที่ไร้พรมแดน
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 และในปี 2022
นี้ก็มีเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศ รัสเซีย-ยูเครน
ที่ทวีความเข้มข้นจนกลายเป็นสงครามที่ทั่วโลกจับตามอง
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกองค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน
ภาคธุรกิจการเงินถือเป็นอุตสาหกรรมตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการปรับตัว
เมื่อธนาคารหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินด้านธุรกรรมการค้าให้ทำงานผ่าน Blockchain เช่นธนาคาร
DBS Bank, HSBC และ
Standard Chartered โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกในเครือข่าย
Contour ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์ม
Corda ของ
R3
ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการทำธุรกรรมการค้าแห่งอนาคต
การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายอามิต กอช
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและบริการ ของ R3 ถึงภาพรวมเทคโนโลยี Blockchain ในปี
2565 มุมมองของ R3
ต่อเทคโนโลยี Decentralized
Autonomous Organization หรือ DAO และสินทรัพย์ดิจิทัลในยุค Web 3.0
รวมถึงการประกาศทดสอบใช้งาน CBDC
ของธนาคารประเทศไทย
ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ตลาด Blockchain ปี 65 โตกระฉูด
คาดมูลค่าทะลุแสนล้านดอลลาร์
นายอามิตกล่าวว่า ในปี 2565 เป็นปีที่เทคโนโลยี
Blockchain และการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์
(Distributed Ledger :
DLT) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้ว
แต่ได้กลายเป็นก้าวต่อไปสู่การวิวัฒนาการของระบบต่างๆ และแนวทางการดำเนินงานองค์กรในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม
ทำให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเทคโนโลยี Blockchain สอดคล้องกับผลการประเมินของ
IDC ที่ระบุว่า
มูลค่าการใช้จ่ายของภาคธุรกิจกับโซลูชั่น Blockchain ในปีนี้จะสูงถึง 117,000 ล้านดอลลาร์
ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ถึงระดับการใช้งานที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในปีต่อไป
ทั้งเพื่อการทำงานธุรกิจ
รวมไปถึงการแปลงทรัพย์สินกระแสหลักให้อยู่ในรูปแบบโทเคนดิจิทัลและข้อมูลดิจิทัล
“R3 มองว่า เทคโนโลยี Blockchain จะกลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกหลักในการผสานบริการทางการเงินแบบดั้งเดิมเข้ากับธุรกิจการเงินแบบกระจายศูนย์รูปแบบใหม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้
ธนาคารกลางหลายแห่งกำลังเริ่มดำเนินโครงการสกุลเงินดิจิทัล (Central Bank Digital Currency : CBDC)
โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะสามารถขับเคลื่อน CBDC ได้ดีกว่าผ่านโครงการนำร่องต่างๆ
ทำให้การใช้สกุลเงิน CBDC
เพื่อให้ธุรกรรมมีความมั่นคงปลอดภัย
ไร้พรมแดนกลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก”
นายอามิตกล่าวว่า
สำหรับประเทศไทยนั้น การเปิดตัวนโยบายไทยแลนด์ 4.0
จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสู่ระบบดิจิทัล เพราะต้องการยกระดับให้ประเทศเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเติบโตที่โดดเด่นในด้านเทคโนโลยี
โดยมีบริษัทสตาร์ตอัพและธุรกิจต่างๆ ที่หันมาใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ หรือ Emerging Technology เพิ่มมากขึ้น
เช่น Blockchain หรือ
DLT
จับตาเทคโนโลยี DAO มาแรง
บทบาทคริปโทฯสูงขึ้นในยุค Web 3.0
นายอามิตกล่าวว่า
เทรนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้คือวิวัฒนาการของ Web 3.0 และการเกิดขึ้นของโลก Metaverse ที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต
ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งให้แพลตฟอร์มด้านสินทรัพย์โตอย่างรวดเร็ว
ขณะที่โลกธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะสร้างดีลในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นด้วย
“โอกาสที่เปิดกว้างบนโลก
Metaverse กำลังดึงดูดผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง
เราคาดว่าบทบาทของสกุลเงินคริปโทฯและสินทรัพย์ดิจิทัลจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
แต่การเติบโตนี้จะถูกจับตามองโดยหน่วยงานกำกับดูแล
ที่จะประเมินผลกระทบของสินทรัพย์ดิจิทัลต่อตลาดการเงิน
และแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิในฐานะผู้บริโภคของนักลงทุนรายย่อยจะได้รับการคุ้มครอง”
เทคโนโลยีองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization
: DAO) เป็นอีกหนึ่งกระแสที่กำลังมาแรงในปีนี้
ด้วยความยืดหยุ่นในการนำเสนอบริการที่หลากหลาย ทั้งการใช้
เพื่อบริหารโปรโตคอลขนาดใหญ่ในแวดวงคริปโทฯ จนถึงการใช้ในด้านการลงทุน
ชุมชนโซเชียล สื่อ และงานการกุศลต่างๆ แม้หัวใจสำคัญของ DAO คือการประสานผู้ใช้งานหลายๆ
คนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียว
แต่อีกทางหนึ่งก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ใช้งานเช่นกัน
“เทคโนโลยี DAO ได้สร้างจุดแข็งใหม่ในด้านการบริหารจัดการ
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัย ซึ่ง R3
มองว่า DAO คือตัวอย่างที่ดีของเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ
ทั้งในมุมความปลอดภัยของผู้ใช้งาน สินทรัพย์ดิจิทัลและข้อมูลส่วนตัว”
CBDC หนุนไทยสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
ช่วยเปิดยูสเคสใหม่ทางการเงิน
นายอามิตกล่าวว่า
การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศทดสอบ CBDC ในปี 2565 ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมกำลังจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจของตัวเองด้วยเทคโนโลยี
Blockchain ปูทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัลได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาควรต้องดำเนินไปตามขั้นตอนและระยะต่างๆ
เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลมีความราบรื่นยิ่งขึ้น
“ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจะกลายเป็นหนึ่งในความสะดวกสบายทั้งสำหรับพนักงานธนาคารและผู้บริโภค
และเมื่อ Blockchain ช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย
มีความเป็นส่วนตัว ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ พร้อมคุณสมบัติในการปรับเปลี่ยนขนาด ก็จะหมดข้อสงสัยว่า
การใช้เทคโนโลยีมายกระดับการทำธุรกรรม สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ลดความเสี่ยง และช่วยลดต้นทุนทุกด้านในระบบนิเวศน์ทางการเงินได้จริง
ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค”
นายอามิตกล่าวว่า
อีกประเด็นที่น่าสนใจของการใช้งาน CBDC
คือ คุณสมบัติของ Programmable Money ที่สามารถใส่เงื่อนไขการใช้งานรูปแบบต่างๆ
ลงไปใน CBDC ได้
ซึ่งในอนาคตจะเกิดยูสเคสที่น่าสนใจจำนวนมากเมื่อประเทศต่างๆ เริ่มปรับใช้
“CBDC ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมมากมายที่ยังไม่เผยตัวออกมา
ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้นว่ายูสเคสจะมีทิศทางอย่างไร
ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการส่งเสริมนวัตกรรมนี้คือการทดสอบและการใช้งานของสถาบันการเงินต่างๆ
ที่จะทำให้ยูสเคสเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง”
R3 Corda ยกระดับ
Blockchain ธุรกิจ
หนุนธนาคารสร้างยูสเคสใหม่
นายอามิตกล่าวว่า
R3
มุ่งแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงข้อจำกัดที่มีอยู่ใน Blockchain แบบเดิม
ที่อาจมีปัญหาทั้งในด้านความมั่นคงปลอดภัย การปรับเปลี่ยนขนาด
และความสามารถในการทำงานร่วมกัน ส่งผลให้ไม่เหมาะกับการใช้งานเชิงธุรกิจ ดังนั้น R3
จึงพัฒนา Corda แพลตฟอร์ม
Blockchain แบบ
Open-source เพื่อแก้ไขปัญหา
“จุดมุ่งหมายของเราคือการแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี
Blockchain เป็นสิ่งที่มีมานานหลายปีแล้วและมอบผลลัพธ์ที่เป็นจริงและจับต้องได้ในทุกอุตสาหกรรม
ดังนั้น R3
จึงให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการทางการเงิน โดยเฉพาะธนาคารและตลาดการลงทุน
และยังทำงานร่วมกับบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำ
ซึ่งเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์โซลูชั่นทั้งด้านการเงินและที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน”
R3
ทำงานอย่างใกล้ชิดกับธนาคารหลายแห่งในประเทศไทย เช่น
โครงการอินทนนท์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และยังร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพในการใช้แพลตฟอร์ม
Corda เพื่อปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นระบบดิจิทัลสำหรับภาคการค้าบริการ
และด้วยความร่วมมือนี้ ธนาคารกรุงเทพสามารถใช้แพลตฟอร์มในการสร้าง แลกเปลี่ยน
ปรับปรุง และออกตราสารเครดิตบน Corda
และ Contour ซึ่งได้รับการจดทะเบียนและก่อตั้งที่สิงคโปร์
โดยผู้ถือหุ้นโครงการ Project
Contour ประกอบด้วยธนาคารชั้นนำของโลกและสถาบันการเงิน
11 แห่ง รวมถึงหุ้นส่วนพันธมิตรธุรกิจของ R3
ตัวอย่างการใช้ Corda ในแต่ละอุตสาหกรรม
- ธนาคาร HSBC ใช้แพลตฟอร์ม Corda ของ R3 เพื่อพัฒนาโซลูชั่นหลักทรัพย์สำหรับบุคคลเนื่องจากมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ในระบบ
ปรับเปลี่ยนขนาดได้ เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และง่ายต่อการตรวจสอบ
- Wells Fargo พัฒนาระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนบนแพลตฟอร์ม
Corda เพื่อสร้างระบบธุรกรรมที่ทำงานได้ตลอดเวลาซึ่งมีความมั่นคงปลอดภัยสูง
มีประสิทธิภาพ และปรับเปลี่ยนขนาดได้
- Spunta แอปพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงธนาคารของอิตาลีทั้ง
100 แห่ง ถูกสร้างบนแพลตฟอร์ม Corda
ช่วยให้ธนาคารสามารถแบ่งปันข้อมูลร่วมกันบนแนวทางที่ปลอดภัย
พร้อมลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน และเพิ่มความรวดเร็วของขั้นตอนการทำงาน
- Tradewind สร้าง Blockchain แอปพลิเคชั่นด้วยแพลตฟอร์ม Corda บน AWS โดยใช้ประโยชน์จากความสามารถของ
Corda ในการจำแนกข้อมูล
มอบความเป็นส่วนตัว และนำเสนอเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อนักพัฒนา
- Synechron ช่วยให้บริษัท 39
แห่งสามารถผ่านการทดสอบขั้นตอนการยืนยันตัวตนระดับโลกเพื่อการดูแลข้อมูลขององค์กร
ซึ่งดำเนินงานบนแพลตฟอร์ม Corda