บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส แนะลงทุนหุ้นเวียดนาม
เศรษฐกิจเวียดนามยังอยู่ในแนวโน้มการเติบโตที่สูง
และกำลังมีบทบาทที่เพิ่มขึ้นใน Supply
Chain ของโลก
ปัจจัยหนุนที่สำคัญคือการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่ใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังนานาประเทศ
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมมือถือและอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิคส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน
รวมถึงเครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องจักรต่างๆ
ซึ่งเวียดนามยังคงได้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าที่ทำไว้กับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆ
ซึ่งเป็นการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน เพิ่มโอกาสทางการตลาด
และที่สำคัญคือ
เวียดนามเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งระยะหลังนี้
จีนมีความเสี่ยงด้านนโยบายคุม Covid,
มีความเสี่ยงด้านพลังงานที่เกิดขึ้นเป็นระยะ
และจีนยังมีความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้าจากชาติตะวันตกอีกด้วย
• เวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีไปแล้ว
15 สัญญา กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาอีก 3 สัญญา และอยู่ในระหว่างการศึกษาอีก 8
สัญญา ซึ่งข้อตกลงการค้าของเวียดนามได้ทำไว้กับประเทศเศรษฐกิจใหญ่จำนวนมากไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ
EU จีน
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รวมถึงอยู่ในข้อตกลงการค้าที่กลุ่ม ASEAN ทำไว้กับประเทศอื่นๆ
อีกด้วย
• เวียดนามกำลังขยายคลัสเตอร์ของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ
ซึ่งประกอบด้วยโซนเศรษฐกิจ (Economic
Zone) 3 แห่งคือ ทางตอนเหนือ ตอนกลาง
และตอนใต้ของประเทศ โดยมีหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะบริษัทระดับโลก
และกำลังมีการขยายตัวของ Supply
Chain ที่สำคัญของแต่ละอุตสาหกรรม
• ระดับความเชื่อมโยงใน
Value Chain โลก
(GVC) และ
Value Chain ภูมิภาค
(RVC) ในการวัดความเชื่อมโยงของ
Supply Chain ในตลาดโลกและตลาดในภูมิภาคนั้น
พบว่า
เวียดนามอยู่ในลำดับขั้นความเชื่อมโยงที่สูงมากในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิคและยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
โดย RVC คือ
“Regional Value Chain” หรือระดับความเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
และ GVC คือ
“Global Value Chain” หรือความเชื่อมโยงใน
Value Chain ของโลก
ในขณะที่ “RVC-GVC Intensity” เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนของความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคเทียบกับระดับโลก
ซึ่งตัวเลขที่ต่ำกว่า 1 หมายถึงความเชื่อมโยงในภูมิภาคน้อยกว่าระดับโลก
ความเชื่อมโยงใน Supply Chain โลกที่เพิ่มขึ้นของเวียดนาม
ได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มก็จำเป็นจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวให้สอดคล้องกัน
เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ลดต้นทุนด้านโลจิสติคส์ เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร
รวมทั้งรองรับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว
• การบริโภคในประเทศกำลังจะเป็นคลี่นหนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไป
เนื่องจากเวียดนามมีประชากรถึง 97.58 ล้านคน
ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนที่เป็นชนชั้นกลาง (Middle Income) ประมาณ 13% ตามข้อมูลจาก Dezan Shira & Associates ซึ่งประชากรกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง
และสัดส่วนของชนชั้นกลางของเวียดนามก็อยู่ในแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องไปตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น
McKinsey คาดว่า
เวียดนามจะเป็นกำลังผลักดันที่สำคัญของการบริโภคในเอเชีย โดยคาดว่าในระยะ 10
ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีกลุ่มประชากรที่มีอำนาจการใช้จ่าย (Consuming Class) เพิ่มขึ้นถึง
36 ล้านคน โดยคนกลุ่ม Consuming
Class หมายถึงคนที่ใช้จ่ายอย่างน้อย USD 11
ต่อวัน เทียบตาม Purchasing
Power Parity (PPP)
ดังนั้น
ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าเวียดนามยังมีความน่าสนใจในการลงทุนในระยะยาว
เพราะมีแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจที่ดี ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
และยังมีการบริโภคในประเทศที่จะเข้ามาเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไปอีกด้วย
ตัวเลือกการลงทุน
1. ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
: “E1VFVN3001”
เป็น Depository Receipt
(DR) ของ “VFMVN30 ETF” เป็น Exchange Traded Fund ที่มีดัชนีอ้างอิงคือ “VN30 Total Return Index” ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นใหญ่
30 บริษัทในตลาดหุ้นเวียดนาม โดย “VFMVN30 ETF” บริหารจัดการโดย
“VietFund Management”
2. ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ
: ที่โดดเด่นคือ “Vietnam
Enterprises Investment Limited, VEIL LN” เป็นกองทุนปิด ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน
โดยกองทุนนี้มีประวัติยาวนาน
มีทีมผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์เป็นคนเวียดนามและมีสำนักงานอยู่ในประเทศเวียดนาม
ตัวเลือกอื่นๆ เป็น Exchange
Traded Fund ที่เน้นลงทุนในเวียดนาม เช่น “VanEck Vectors Vietnam ETF, VNM US” ในตลาดสหรัฐฯ
และ “Xtrackers FTSE
Vietnam Swap UCITS ETF, XFVT LN” ในตลาดลอนดอน
3. กองทุนรวมในไทย
: DBSV Fund Research
Team เลือก “PRINCIPAL VNEQ-A” กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม
อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า: สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 3 ปี
ได้ดีกว่ากองทุนอื่นในกลุ่มเดียวกัน มีอัตราผลตอบแทนเทียบความเสี่ยงที่สูงกว่ากองประเภทเดียวกัน
• ความเสี่ยง
- นักลงทุนควรรับความเสี่ยงได้สูง,
การลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย สภาวะการซื้อขายในตลาดต่างประเทศ
แนะนำให้มีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนของพอร์ตลงทุนโดยรวมให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของนักลงทุน