Libra Vs ดิจิทัลหยวน ยักษ์ชนยักษ์ในโลกไร้เงินสด
ทั้ง Libra และดิจิทัลหยวน สามารถลดต้นทุนจากการทำธุรกรรม
สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง
ย่นระยะเวลาการทำธุรกรรมจากหลายวันให้สั้นลงเหลือเพียงไม่กี่วินาที ใครๆ
ก็สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งถ้าสกุลเงินทั้งสองประกาศใช้จริงและมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่า สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินต่างๆ
จะได้รับผลกระทบโดยตรง
ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เชื้อไวรัส Covid-19 ได้แพร่ระบาดอย่างหนักและกระจายไปทั่วภูมิภาคของโลกอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นข่าวที่หลายคนให้ความสนใจเนื่องจากการแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก
อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการปรับตัวของมนุษย์ในหลายด้านและในเรื่องที่ชัดเจนมากที่สุดคือ
การผลักดันให้มนุษย์เปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้น
นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานและชีวิตประจำวัน แต่นอกเหนือจากการระบาดครั้งใหญ่ของ Covid-19 ก็มีเรื่องที่น่าจับตามองไม่แพ้กันในช่วงต้นปี 2020
นั่นคือ เรื่องการผลักดันให้มีการสร้างสกุลเงินดิจิทัลจากประเทศมหาอำนาจขึ้นมา
โดยเฉพาะที่อเมริกา
ขาใหญ่โลกโซเชียลอย่าง Facebook ได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลอย่าง
Libra ขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วกลายเป็นข่าวใหญ่จนทุกสำนักต่างจับตามอง
ขณะที่ประเทศจีนก็ไม่ได้นิ่งเฉย
มีการประกาศออกสกุลเงินดิจิทัลหยวนที่จะมีกำหนดการให้ใช้งานจริงภายในปีนี้แล้ว
ซึ่งการเร่งผลักดันสกุลเงินดิจิทัลของทั้งสองมหาอำนาจ แม้จะมีที่มาที่แตกต่างกัน
แต่จะมีผลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการชำระเงิน รวมถึงการ Disrupt
ระบบของสถาบันการเงินทั้งหมดในโลกด้วยเช่นกัน
Libra & ดิจิทัลหยวน
ฟันเฟืองสำคัญของโลกไร้เงินสด
หากพูดถึงสกุลเงินดิจิทัล หลายคนคงนึกถึงคริปโตเคอร์เรนซี่อย่าง Bitcoin
แต่จริงๆ แล้ว
สกุลเงินดิจิทัลที่จะออกโดยทั้งสองประเทศมหาอำนาจนั้นมีความแตกต่างจาก Bitcoin
อยู่พอสมควร จะเหมือนกันก็ตรงที่ทั้ง Libra และดิจิทัลหยวนถูกรันอยู่บน
Blockchain เช่นเดียวกับสกุลเงินคริปโตฯอื่นๆ
ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ ทั้ง Libra
และดิจิทัลหยวน
มีจุดประสงค์ในการสร้างสกุลเงินใหม่ที่สามารถใช้ซื้อของได้จริงในชีวิตประจำวัน
มีสินทรัพย์อ้างอิงที่ชัดเจน และไม่สามารถใช้เก็งกำไรได้
ไม่มีการผันผวนของราคาเป็นเหมือนสกุลเงินทั่วไปที่เราใช้กันทุกวัน
แต่สกุลเงินคริปโตอื่นๆจะถูกเน้นไปที่การเก็งกำไรจากการถือครอง
เนื่องจากมีการผันผวนของราคาสูง
อีกทั้งทั้ง Libra
และ ดิจิทัลหยวน ถูกวางแผนให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย
คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้จากการนำเงินสดไปแลกเป็น Libra และ
ดิจิทัลหยวน โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ชัดเจน ขณะที่สกุลเงินคริปโตอื่นๆ
มีตัวแปรในการได้มาค่อนข้างเยอะ เช่น การขุดเหมือง
และราคาที่ค่อนข้างผันผวนอยู่ตลอด
การกำเนิดของ Libra
และ ดิจิทัลหยวน ล้วนมีความเกี่ยวพันกับระบบการชำระเงินและสถาบันการเงินทั่วทั้งโลกเพราะ
2 สกุลเงินนี้จะ Disrupt ระบบการทำธุรกรรมการเงินในแบบเดิมเกือบทั้งหมด
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาการทำธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่มักจะผ่านตัวกลางก็คือ
สถาบันการเงินต่างๆ สิ่งที่ตามมาจากการทำธุรกรรมแบบเดิมๆ คือ ค่าธรรมเนียม
หรือในบางธุรกรรมอาจกินเวลานานหลายวัน Libra และ ดิจิทัลหยวน
มีจุดประสงค์ที่คล้ายกันทั้งคู่คือการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป
ทั้ง Libra และ ดิจิทัลหยวน สามารถลดต้นทุนจากการทำธุรกรรม
สามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง ย่นระยะเวลาการทำธุรกรรมจากหลายวันให้สั้นลงเหลือเพียงไม่กี่วินาที
อีกทั้งใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งถ้าทั้ง Libra และ
ดิจิทัลหยวน ประกาศใช้จริงและมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าสถาบันการเงิน
รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มชำระเงินต่างๆ จะได้รับผลกระทบโดยตรง
เพราะถ้าทั้งสองสกุลเงินสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
การทำธุรกรรมแบบเดิมก็จะเริ่มเสื่อมความนิยมลง
รวมถึงเงื่อนไขการเข้าถึงการทำธุรกรรมแบบเดิมที่ถูกจำกัดหลายอย่างจะถูกคลี่คลายลงอีกด้วย
และทั้งLibra
และ ดิจิทัลหยวน จะมีส่วนผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดได้เร็วขึ้น
Libra เวอร์ชั่น 2.0
กับความตั้งใจพลิกโลกการเงิน
ย้อนไปเมื่อกลางปี 2562 ยักษ์โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook
ซึ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 2,500
ล้านบัญชีต่อเดือน ประกาศการสร้างสกุลเงินดิจิทัล Libra ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการการเงินโลกอีกครั้ง
หลังจาก Bitcoin ได้แจ้งเกิดบนโลกการเงินอย่างเป็นทางการโดย Libra
เป็นสกุลเงินดิจิทัลในลักษณะ Stable Coin ซึ่งมีมูลค่าคงที่
มีสินทรัพย์อ้างอิงเป็นเงินสกุลจริง โดย Facebook ได้ร่วมกับพันธมิตรหลายราย
ช่วยกันพัฒนาภายใต้เทคโนโลยี Blockchain
แนวคิดในการพัฒนา Libra
นั้น คือการตั้งตัวเป็นเหมือนหน่วยเงินสากลที่ใช้บนโลกดิจิทัลเปรียบเสมือนเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งหมด หรือเปรียบเสมือนค่าเงินที่เราใช้กันจริงๆ
อีกทั้งจะต้องง่ายต่อการเข้าถึงจึงได้มีการพัฒนาระบบ Wallet อย่าง
Calibra ขึ้นมารองรับการแลกเปลี่ยนจากเงินจริงไปสู่ Libra
ทั้งนี้ เนื่องจาก Facebook
ต้องการที่จะแก้ปัญหาการเข้าถึงการเข้าถึงการทำธุรกรรมที่ต้องผ่านตัวกลาง
ซึ่งการมีบัญชีธนาคารนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทุกคน
โดยเฉพาะประชากรของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่มีฐานะยากจน นอกจากนั้น
ยังช่วยลดต้นทุนในการโอนเงิน
หรือการทำธุรกรรมระหว่างประเทศเพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของโลก
หากใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มของ Libra ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียม
หรือส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนหลายขั้นตอน
รวมถึงลดระยะเวลาการทำธุรกรรมให้สั้นลงอีกด้วย
แน่นอนว่า การประกาศเปิดตัว Libra
นั้น มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก และเนื่องจากLibra
เป็นสกุลเงินที่ออกโดยภาคเอกชน
ไม่ได้มีกฎหมายหรือมีธนาคารกลางใดในโลกกำกับดูแล
อีกทั้งไม่ได้ระบุเป้าหมายระยะยาวของการรวมตัวทางการเงินที่ชัดเจน
จึงทำให้ถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบเงื่อนไขการใช้บริการต่างๆ
พร้อมกับการพิจารณาคดีในศาลจำนวนมาก
ทำให้ต้องหยุดการพัฒนาจนโครงการบางส่วนหยุดชะงักลง
แต่ Facebook ก็ยังไม่ยอมแพ้ในการสร้างLibra และได้ออก Whitepaper
สำหรับ Libra ในเวอร์ชั่นใหม่ที่ได้รวบรวมข้อคิดเห็น
คำเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ออกมาเป็น Libra 2.0
ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างจากเดิมอยู่หลายประการคือ
1.
ใช้สกุลเงินเดียว (single-currency stablecoins) เข้ามาผูกติดกับ Libra2.0
โดยมีสูตรการคำนวนที่แน่ชัด เช่น 1 เหรียญ Libra เท่ากับ USD 0.50 หรือ EUR 0.18 หรือ GBP 0.11 เป็นต้นจากเดิมการสร้างค่าเงินของ Libra
จะอิงกับเงินหลายสกุล (multi-currency stablcoins) คล้ายกับการคิดค่าเงินสกุล Special Drawing Rights (SDR) ของ IMF ซึ่งจะทำให้ยากต่อการตรวจสอบและการไม่สามารถผ่านมาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศได้
2.
เพิ่มหมวดหมู่ Virtual Asset Service Providers (VASPs) คือตัวแทนให้แลกเงินหรือผู้ให้บริการกระเป๋าเงิน
ได้รับรองจากสมาคมอย่างถูกต้อง โดยเปิดให้หน่วยงานภาครัฐของแต่ละประเทศมากำกับดูแล
ซึ่งจากเดิมนั้นระบบ Permissionless จะถูกดูแลกำกับกันเองใน Facebook
3.
เดิมที Libra1.0
จะพัฒนาในลักษณะของสกุลเงินดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับเวอร์ชั่น 2.0 จะพัฒนาในลักษณะกึ่งแพลตฟอร์ม โดยเรียกตัวเองว่า "Digital
Programmable Currencies"
ท่าทีของ Libra ในปัจจุบันนั้นนับว่ามีพัฒนาการไปในทางที่ดีเนื่องจากเริ่มได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงานมากขึ้น
อีกทั้งยังมีบริษัทต่างๆ ทยอยเข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์ม Libraเพิ่มเติม
ซึ่งท่าทีที่เป็นไปในทางบวกนี้ได้ส่งผลดีไปถึงอุตสาหกรรมคริปโตฯด้วย
เพราะการเริ่มยอมรับใน Libra ก็ทำให้การยอมรับในเงินคริปโตฯสูงขึ้นไปด้วย
และอาจยิ่งสูงขึ้นไปอีกหาก Libra ประสบความสำเร็จในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการชำระเงินทั่วโลก
กฎระเบียบเพิ่มเติม ทำให้ Libra
ต้องปฏิบัติตามระบบการชำระเงินซึ่งมีหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวดที่กำหนดขึ้น
โดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งหลังจากมีการปรับเปลี่ยน
นักวิเคราะห์ระบบการชำระเงินคาดการณ์ไว้ว่า Libra อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงินได้แบบที่ครั้งหนึ่ง
อีลอน มัสก์ เคยเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอวกาศด้วยโครงการ SpaceX
จีนเดินเครื่องดิจิทัลหยวน
หวังเป็นสกุลเงินดิจิทัลของโลก
สำหรับสกุลเงินดิจิทัลจากแดนมังกรนั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Digital
Currency Electronic Payment (DCEP) เรียกสั้นๆ ว่า “ดิจิทัลหยวน” เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางของจีน
มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาแทนที่การใช้เงินสด โดยเป็นความต้องการของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบการชำระเงินในปัจจุบัน
ให้มีความรวดเร็ว สะดวก และสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
โดยดิจิทัลหยวนจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐแต่เพียงผู้เดียวเหมือนกับสกุลเงินหลักของประเทศแตกต่างจาก
Libra ของFacebook ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ออกโดยภาคเอกชน
อีกทั้งสินทรัพย์อ้างอิงของดิจิทัลหยวนมาจากเงินหยวนจริงแบบ 1 ต่อ 1
ผู้ใช้สามารถใช้เงินดิจิทัลหยวนแทนเงินหยวนเดิมได้เลยเพราะมีมูลค่าเท่ากัน
แค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากกระดาษมายังแบบดิจิทัลเท่านั้น
และมีค่าเงินที่คงที่ไม่สามารถเก็งกำไรได้แบบสกุลเงินคริปโตฯอื่นๆ
ที่น่าสนใจคือ
ธนาคารกลางเพื่อประชาชนของจีนได้มีการประกาศใช้ดิจิทัลหยวนนำร่องแล้ว 4 เมือง คือ เซินเจิ้น, ซูโจว, สงอัน
และเฉิงตู โดยการทดลองใช้งานนี้จะมีระยะเวลาถึง 6-12 เดือน
ซึ่งร้านค้าหลายๆ ราย เช่น McDonald’s, Starbucks และ Subway
ก็อยู่ระหว่างจารณาเข้าร่วมโครงการนำร่องดิจิทัลหยวนด้วย นอกจากนี้
รัฐบาลจีนยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มบริการ Blockchain Service Network (BSN) ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเพื่อให้รองรับต่อการเปิดตัวดิจิทัลหยวนอย่างเต็มรูปแบบ
โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ให้หน่วยงานเอกชนเข้าร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มนี้
นำโดยยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีนหลายรายไม่ว่าจะเป็น หัวเว่ย อาลีบาบา เทนเซ็นต์
และจะมีการสร้างระบบดิจิทัลหยวนวอลเล็ท
โดยธนาคารกลางจีนจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปแลกเงินผ่านดิจิทัลหยวนวอลเล็ท
การชำระเงินจะง่ายและสามารถเข้าถึงประชาชนได้เกือบทุกคน เพราะระบบการชำระเงินของดิจิทัลหยวนไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ต
เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือทั่วไปก็สามารถใช้งานดิจิทัลหยวนได้
นอกจากนั้น
ร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนภายในประเทศจีนตั้งแต่ร้านค้าขนาดเล็กไปจนถึงห้างร้านก็ต้องเปิดระบบวอลเล็ทให้พร้อมกับการเปิดตัวอีกด้วย
ซึ่งจะเห็นได้ว่าจีนได้เตรียมความพร้อมไว้ในทุกด้านแล้ว
ความต้องการอีกอย่างของจีนคือการผลักดันให้ดิจิทัลหยวนเป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักของโลกเหมือนกับที่
Facebook พยายามผลักดัน Libra อยู่ในขณะนี้จึงทำให้จีนต้องชิงความได้เปรียบทางการเงินก่อนที่
Libra จะทำสำเร็จเพราะหาก Libra ทำสำเร็จก่อน
นั่นหมายความระบบการชำระเงินดิจิทัลทั่วโลกอาจต้องไหลผ่านเซิร์ฟเวอร์การชำระเงินของ
Libra อย่างแน่นอน
ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงภายในประเทศจีนอย่างมาก
เพื่อไม่ให้สูญเสียความได้เปรียบในส่วนนั้น
จีนจึงจำเป็นต้องเร่งออกดิจิทัลหยวนก่อน
โดยจีนนั้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกถึง 1,400 ล้านคน เมื่อนักท่องเที่ยวจีนใช้ดิจิทัลหยวนทั้งหมด
การกระจายตัวของเงินสกุลนี้สู่ทั่วโลกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศอื่นๆ
จะถูกบีบให้ใช้ดิจิทัลหยวน ไปด้วยหากไม่อยากสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน
นอกจากนี้ การเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลหยวนยังมีความซับซ้อนน้อยกว่าการแลกเปลี่ยนเงินปกติไปสู่ดอลลาร์สหรัฐฯ
รวมถึงค่าธรรมเนียมความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน และระยะเวลาการทำธุรกรรมเร็วกว่า
ขณะที่ ธนาคารกลางจีนจะสามารถควบคุมระบบการเงินได้เต็มรูปแบบมากขึ้นกว่าในอดีต
ซึ่งรัฐบาลจีนก็เชื่อว่าการหมุนเวียนของเงินในระบบจะมีมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
และการทำธุรกรรมต่างๆ ของดิจิทัลหยวนจะถูกรันอยู่บน Blockchain ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนที่เกิดธุรกรรม ดังนั้น
จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการฟอกเงิน หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ในตลาดมืด
Libra 2.0 ได้กองหนุนเพิ่ม
ดิจิทัลหยวนชูจุดแข็งที่เสถียรภาพ
ปัจจุบัน บริษัทการเงินหลายบริษัทเริ่มหันมาสนใจการเป็นพันธมิตรกับ Libra ไม่ว่าจะเป็น Shoptify Heifer International และ Crypto Broker Tagomi ก็ได้เข้าร่วมลงทุนในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ส่วนหนึ่งเพราะหาก Libra ประสบความสำเร็จ จะทำให้บริษัทด้านการเงินเหล่านี้จะสามารถปรับตัวและอยู่รอดต่อไปได้ นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทในเครือ เทมาเส็กพร้อมกับ VC Venture อีกสองรายได้แก่ Slow Ventures และ Paradigm ก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับ Libra แล้ว แสดงให้เห็นว่า Libra ไม่ได้ถูกสนใจแค่ในแวดวงการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังดึงดูดความน่าสนใจจากกลุ่มนักลงทุนได้อีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเทมาเส็ก ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่มี่ความมั่งคั่งสูงของสิงคโปร์ มีพอร์ตการลงทุนมากกว่าพันล้านดอลลาร์
แม้ Libra จะเริ่มได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนมากขึ้น แต่เป้าหมายที่จะกลายเป็นเงินสกุลหลักของโลกยังสร้างข้อกังวลให้กับรัฐบาลหลายๆ
ประเทศ ณ ขณะนี้ เพราะความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเงินของ Libra นั้นยังไม่ชัดเจน
อีกทั้งการกำกับดูแลและควบคุมในด้านกฎหมายการเงินของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน
อีกทั้งยังมีความกังวลในด้านนำข้อมูลไปใช้โดยมิชอบอีก ดังนั้น
ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังคงจับตามอง Libra อย่างใกล้ชิดรวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ย้อนกลับมาที่ดิจิทัลหยวนแม้จะเป็นเงินดิจิทัลเช่นเดียวกับ
Libra
แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นค่อนข้างแตกต่างกัน
ในประเทศจีนปัจจุบันมีแพลตฟอร์มการชำระเงินที่เป็นที่นิยมและแพร่หลายอยู่หลายแพลตฟอร์ม
เช่นอาลีเพย์ และวีแชทเพย์
แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้จะไม่ถูกผลกระทบกับการมาของดิจิทัลหยวน
ที่ถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเงินสดและในเรื่องการเข้าถึงการทำธุรกรรมเท่านั้น
อีกทั้งดิจิทัลหยวนถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารกลางเพื่อประชาชนจีน มีกฎหมาย
การควบคุมดูแล รองรับที่ชัดเจน
ดังนั้น
เสถียรภาพทางการเงินที่คาดว่าน่าจะมีพอๆ กับเงินหยวนปกติทั่วไปและอาจจะมากกว่า
เพราะการเข้าถึงการทำธุรกรรมที่ง่าย
ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงการทำสกุลเงินดิจิทัลแบบรวมศูนย์มากขึ้น
เพราะนอกจากจะง่ายต่อการควบคุมยังสามารถเข้าถึงธุรกรรมทางการเงินให้กับประชาชน
และรัฐบาลก็สามารถตรวจสอบการไหลเวียนของเงินในระบบได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
โปรเจ็กต์อินทนนท์
สกุลเงินดิจิทัลของไทย
สำหรับประเทศไทยเองนั้นได้มีการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน
เป็นการพัฒนาขึ้นมาจากระบบการทำงานของธนาคารต่างๆ
ในไทยที่หากมีการโอนเงินระหว่างธนาคาร
ธนาคารในเครือเหล่านี้จะไม่ได้เป็นผู้โอนเงินออกจากบัญชีต้นทางไปที่ปลายทางโดยตรง
แต่ละที่จะมีบัญชีของตัวเองที่เปิดไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว การโอนจ่ายระหว่างธนาคารจึงเป็นเหมือนการ
ทำระบบสั่งจ่าย และยื่นให้ธนาคารแห่งประเทศไทย
เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโอนเงินให้กับปลายทางอีกที
ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยากและล่าช้า
โปรเจ็กต์อินทนนท์จึงถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวขึ้น
โดยการสร้างสกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินกลางที่สามารถใช้ได้ระหว่างธนาคารด้วยกัน
ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีหน้าที่เพียงเปิดรับแลกเงินจากธนาคาร
พาณิชย์ไปสู่สกุลเงินอินทนนท์
เมื่อธนาคารต้องการทำธุรกรรมต่อกันก็สามารถใช้อินทนนท์ในการทำธุรกรรมระหว่างกันได้เลยอย่างอิสระ
โดยไม่มีความจำเป็นต้องผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา
ต้นทุนการทำธุรกรรมได้อย่างมาก