ประกันสุขภาพ-ยูนิต ลิงค์ บุกตลาดปีเสือ รับมือค่ารักษาแพง-อัตราดอกเบี้ยขาลง
ประกันชีวิต คาดการณ์ปี 2565
ประกันสุขภาพยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
หลังวิกฤติโควิดกระตุ้นให้ตระหนักถึงการวางแผนบริหารค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล
ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทุกปี ตามมาด้วย ยูนิต ลิงค์
หวังสร้างเงินออมและเพิ่มความมั่งคั่งรับมืออัตราดอกเบี้ยลดลง
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ส่งผลให้ประกันสุขภาพมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพ
ที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้ โดยในปี 2565
แบบประกันที่ผู้บริโภคจะให้ความสนใจ จะเป็นแบบประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง
เพื่อวางแผนบริหารค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และประกันชีวิตควบการลงทุน
เพื่อการออมเงินและเพิ่มความมั่งคั่งจากการลงทุน
ส่งสุขภาพ-โรคร้ายแรง ลุยตลาด
นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2565
ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง จะเป็นแบบประกันที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ
เนื่องจากต้องการวางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อรองรับกับค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น
รวมถึงความวิตกกังวลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ให้ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงมากขึ้น
ขณะเดียวกัน
ผู้ทำประกันยังสนใจในการวางแผนทางการเงินกับประกันชีวิต โดยแบบประกันที่สนใจคือ
ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิต ลิงค์ ) เนื่องจากสามารถวางแผนเพิ่มความมั่งคั่งได้ด้วยตนเอง
ดังนั้น
บริษัทจึงได้นำเสนอแบบประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายอย่างต่อเนื่อง อาทิ OPD คุ้มครบ
จบหายห่วง ที่ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ รับประกันตั้งแต่อายุ 11-75 ปี
โดยให้ความคุ้มครองถึงอายุ 85 ปี รับผลประโยชน์ความคุ้มครองผู้ป่วยนอก (OPD) แบบเหมาจ่ายไม่มีลิมิตต่อครั้ง
ประกันผู้ป่วยใน (IPD) เหมาจ่าย
กรณีป่วยด้วยโรคร้ายแรงรับก้อน และเพิ่มผลประโยชน์ค่าห้องเป็น 2 เท่า
อีกทั้งยังมีตรวจสุขภาพประจำปี ฉีดวัคซีน ตรวจสายตา ตั้งครรภ์ คลอดบุตร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอ แผนประกันโรคร้ายแรง
ซีไอ ฟิวเจอร์ ที่ให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรง ครอบคลุมการเจ็บป่วยหนักจากทุกสาเหตุ
และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน แบบไม่จำกัด ชื่อโรคหรือกลุ่มโรค
หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal
โดยให้ความคุ้มครองเมื่อเป็นโรคชนิดใหม่
หรืออุบัติเหตุ รับเงินก้อน 50% ของทุนประกันเมื่อเข้ารักษาตัวในฐานะผู้ป่วยใน
เมื่อตรวจพบ 50 โรคร้ายแรงรับเงินก้อน 20%
ของทุนประกันภัยหากตรวจพบโรคร้ายแรงระยะเริ่มต้น และรับ 100%
ของทุนประกันหากตรวจพบโรคร้ายแรงระยะร้ายแรง
ขณะเดียวกัน เมื่อเจ็บป่วย หรือประสบอุบัติเหตุ
จะได้รับการรักษาในฐานะผู้ป่วยใน
รวมถึงหากตรวจพบโรคร้ายแรงระยะเริ่มต้นและระยะรุนแรง รับความคุ้มครองสูงสุด 170%
ของทุนประกันภัย กรณีมีการเคลมโรคร้ายแรงระยะเริ่มต้น
และ/หรือเคลมการรักษาในฐานผู้ป่วยในไปแล้ว
ผู้ทำประกันไม่ต้องจ่ายเบื้ยประกันในส่วนที่ได้เคลมไปแล้วในปีกรมธรรม์ถัดไป
นอกจากนี้
หากผู้ทำประกันต้องการวางแผนการออมเงินระยะยาวและเพิ่มความมั่งคั่งจากการลงทุน
ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง บริษัทได้นำเสนอ แผนประกันชีวิตควบการลงทุน
เอฟดับบลิวดี ฟอร์ ฟรีดอม ลิงค์ 15/5 ที่ผู้ทำประกันสามารถเลือกวางแผนและปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ด้วยตนเอง
สามารถกำหนดสัดส่วนความคุ้มครองชีวิต โดยเลือกความคุ้มครองชีวิตได้สูงสุดถึง 50
เท่า วางแผนพอร์ตลงทุนและสับเปลี่ยนกองทุนได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
อีกทั้งสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนโดยชำระเบี้ยประกันเพิ่มพิเศษ
(Top up) รวมถึงสามารถหยุดพักชำระเบี้ยประกันภัย
หรือถอนเงินบางส่วนเมื่อจำเป็น นอกจากนี้ เมื่อสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 5
จะได้รับโบนัสพิเศษ 2% ของเบี้ยประกันหลักที่ชำระมาแล้วทั้งหมด
อีกทั้งยังรับประกันว่ากรมธรรม์มีความคุ้มครองชีวิตตลอดระยะเวลา 15 ปี
เมื่อครบสัญญามีสิทธิ์ขอต่ออายุกรมธรรม์ได้ทุกๆ 15 ปี
สูงสุดไม่เกินปีกรมธรรม์ที่อายุครบ 90 ปี
“การที่ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ในอัตราที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้คนหันมาสนใจออมเงินระยะและเพิ่มความมั่งคั่งผ่านประกันชีวิตกันมากขึ้นเพราะได้รับทั้งการป้องกันความเสี่ยงกับชีวิตหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น”
ประกันเจาะรายบุคคลมาแรง
นางสาวจิตต์เกษม สุรธรรมานันท์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า ในปี 2565 แบบประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง และประกันชีวิตควบการลงทุน
จะเป็นแบบประกันที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างน้อยปีละ 10%
ขณะที่ประกันชีวิตควบการลงทุนยังสามารถเพิ่มความมั่งคั่งและส่งเสริมการออมในระยะยาวได้อย่างเหมาะสมในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลงอย่างในปัจจุบัน
โดยในส่วนของการทำประกันสุขภาพ
และโรคร้ายแรงนั้น
ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากกระแสตื่นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจทำประกันชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกัน
ผู้บริโภคก็เริ่มมีความกังวลใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในส่วนของค่ารักษาพยาบาลว่าจะสามารถให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมกับค่ารักษาพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตได้หรือไม่
นางสาวจิตต์เกษมกล่าวว่า
จากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ส่งผลให้รูปแบบของประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2565
จะเปลี่ยนแปลงไปจากแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงที่ผ่านมา
โดยจะมีรูปแบบที่เน้นให้ความคุ้มครองแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น
พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ทำประกันสามารถเลือกความคุ้มครองความเสี่ยงตามความวิตกกังวลของตนเองได้
“เช่น นาย ก. มีความกังวลว่าจะเป็นโรคมะเร็ง
โรคหัวใจ หรือโรคสมอง ก็สามารถเลือกความคุ้มครองโรคที่ตนเองกังวลอย่างโรคมะเร็ง
โรคหัวใจ หรือโรคสมอง เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องซื้อความคุ้มครอง 30 โรค หรือ 40
โรค จากแบบประกันที่คุ้มครอง 30 โรค หรือ 40 โรค“
จากเดิมที่แบบประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรง
จะเป็นการเหมาจ่ายและคุ้มครองโรคร้ายแรงกว่า 30-40 โรคร้ายแรง
ซึ่งอาจจะเป็นโรคที่ผู้ทำประกันไม่ต้องการให้คุ้มครองเนื่องจากมองว่าตนเองมีความเสี่ยงน้อย
แต่ที่ผ่านมา แม้จะต้องการความคุ้มครองความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงเพียงบางโรค
เพื่อให้จ่ายเบี้ยประกันที่น้อยลง แต่ไม่สามารถเลือกความเสี่ยงได้
เนื่องจากแบประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงในอดีตจะเป็นการจัดแพ็กเก็จให้กับผู้ทำประกันเรียบร้อยแล้ว
นางสาวจิตต์เกษมกล่าวว่า จาก Pain Point ของลูกค้าที่ต้องการเลือกความคุ้มครองได้ด้วยตนเอง
เพื่อกำหนดเบี้ยประกันและวงเงินความคุ้มครองได้ด้วยตนเอง
ตามกำลังซื้อของแต่ละคนเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมและตรงตามความต้องการของตนเองมากที่สุด
ส่งผลให้ทิศทางของการพัฒนาแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงต่อจากนี้ไปจะมีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละรายมากขึ้น
โดยผู้ทำประกัน 1 ราย
สามารถเริ่มต้นวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ด้วยตนเอง
ดังนี้
1. สำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้นวางแผนทำประกันสุขภาพ
ควรต้องเริ่มที่การทำประกันสุขภาพเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกให้เพียงพอ
โดยเริ่มต้นที่ทุนประกันไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ถึง 3 ล้านบาทต่อราย
2. เมื่อได้รับความคุ้มครองจากแบบประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงแล้ว
อาจจะเริ่มกังวลเกี่ยวกับค่ารักษาที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนเอง เช่น โรคมะเร็ง
โรคหัวใจ โรคสมอง ผู้ทำประกันสามารถปิดความกังวลใจจากความเสี่ยงของโรคร้ายแรงต่างๆ
เหล่านี้ได้ด้วยการทำประกันสุขภาพโรคร้ายแรง
ที่เลือกความคุ้มครองความเสี่ยงของแต่ละโรค
โดยจ่ายเบี้ยเฉพาะในส่วนของโรคที่ผู้ทำประกันมีความกังวล เพื่อช่วยประหยัดเบี้ย หรือหากยังมีความกังวลว่าจะได้รับความคุ้มครองที่ไม่ครอบคลุมก็สามารถทำประกันโรคร้ายแรงที่เหมาจ่ายทุกโรคได้ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของแต่ละคนเป็นหลัก
“การนำเสนอแบบประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงในรูปแบบใหม่นี้
จะเห็นได้ว่าผู้ทำประกันสามารถ ที่จะบริหารความเสี่ยงและเลือกความคุ้มครองได้ด้วยตนเอง
ตามกำลังซื้อของแต่ละคนได้
โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันสูงเกินกว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต”
ตัวอย่าง การวางแผนทำประกันสุขภาพ
สำหรับเพศหญิงอายุ 28-35 ปี
1. สำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อจำกัด โดยเป็นเพศหญิง
อายุ 28 ปี สามารถวางแผนทำประกันชีวิตกับ เมืองไทย สมาร์ท โพรเทคชั่น 90/90
ทุนประกัน 200,000 บาท พร้อมทำประกันสุขภาพกับโครงการเหมาจ่าย เอ็กซ์ตร้า
แผนความคุ้มครอง 500,000 บาท และสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพวงเงินแน่นอน (HB) วันละ
3,000 บาท
2. สำหรับผู้ที่กำลังซื้อปานกลาง เพศหญิง อายุ
35 ปี สามารถทำประกันชีวิต เมืองไทย สมาร์ท โพรเทคชั่น 90/90 ทุนประกัน 200,000
บาท พร้อมทำสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ดี เฮลท์ แผนความคุ้มครอง 5 ล้านบาท
และสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพวงเงินแน่นอน (HB) วันละ 3,000 บาท
3. สำหรับผู้ที่กำลังซื้อสูง สำหรับเพศหญิงอายุ
35 ปี สามารถเลือกซื้อ เมืองไทย สมาร์ท โพรเทคชั่น 90/90 จำนวนเงินเอาประกันภัย
200,000 บาท พร้อมสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ อีลิท เฮลท์ แผนความคุ้มครอง
20 ล้านบาท สัญญาเพิ่มเติม ซีไอ เพอร์เฟค แคร์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท
และสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพวงเงินแน่นอน (HB) วันละ 4,000 บาท
ทั้งนี้
เมืองไทยประกันชีวิตยังมีแนวคิดในการที่จะอัพเกรด แบบประกันสุขภาพ อีลิท เฮลท์
ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานประกันสุขภาพใหม่
รวมถึงแบบประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงที่ผู้ทำประกันสามารถเลือกความคุ้มครองตามความเสี่ยงของตนเองได้ด้วย
ส่วนกลุ่มที่ต้องการออมเงินผ่านประกันชีวิต
แบบประกันที่จะได้รับความสนใจจะเป็นแบบประกันชีวิตควบการลงทุน อย่าง ยูนิต ลิงค์
หรือยูนิเวอร์แซลไลฟ์
เพราะผู้ทำประกันสามารถเลือกกองทุนเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งได้ตามระดับความเสี่ยงของตนเองได้
โดยยูนิตลิงค์ และยูนิเวอร์แซลไลฟ์
เป็นแบบประกันชีวิตที่เหมาะสำหรับการออมเงินและลงทุนกับประกันชีวิตในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงได้เป็นอย่างดี