Exclusive Interview : วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
วิทัย รัตนากร
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน
เดินหน้าธนาคารเพื่อสังคม
คืนสู่ตัวตนของคนออมสิน
“การเปลี่ยนเป็นธนาคารเพื่อสังคมคือการกลับมาสู่ตัวตนของออมสิน ซึ่งการเปลี่ยนองค์กรไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแต่มีวิธีการที่สามารถทำได้ เช่น ต้องมี Long Term Direction รวมถึงการปรับระบบ Internal Communication เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้ และทำให้การปรับองค์กรของออมสินมี Impact ที่เกิดกับสังคมได้จริง”
กว่า 1 ปี 5 เดือนนับตั้งแต่ วิทัย รัตนากร
รับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 17
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม
2563 ได้ประกาศปรับองค์กรสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจากการดำเนินการตามภารกิจอย่างเข้มข้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากได้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
วิทัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ การเงินธนาคาร ว่า
ธนาคารออมสินต้องเป็นธนาคารที่อยู่คู่กับชุมชนและสังคม ดังนั้น การปรับองค์กรสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคมคือการกลับสู่ตัวตนของธนาคารออมสิน ซึ่งการที่จะสามารถเปลี่ยนองค์กรได้นั้น
ต้องมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนและมีการปรับระบบการสื่อสารภายในเพื่อให้ทั้งองค์กรสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้
“การเปลี่ยนเป็นธนาคารเพื่อสังคมคือการกลับมาสู่ตัวตนของออมสิน ซึ่งการเปลี่ยนองค์กรไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่มีวิธีการที่สามารถทำได้
เช่น ต้องมี Long Term
Direction รวมถึงการปรับระบบ Internal Communication เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปพร้อมกันได้
และทำให้การปรับองค์กรของออมสินมี Impact ที่เกิดกับสังคมได้จริง”
บรรลุเป้าหมายธนาคารเพื่อสังคม
ด้วยการดำเนินธุรกิจแบบ Dual Track
วิทัยกล่าวว่า
การทำให้ภารกิจธนาคารเพื่อสังคมสำเร็จตามเป้าหมายได้นั้น ออมสินต้องดำเนินธุรกิจแบบ Dual Track คือทำทั้งเชิงพาณิชย์
(Commercial) และ
ในด้านสังคม (Social) เพื่อที่จะสามารถนำกำไรที่ได้จากธุรกิจเชิงพาณิชย์มาสนับสนุนภารกิจในด้านสังคม
“การเป็นธนาคารเพื่อสังคมต้องทำธุรกิจแบบ Dual Track คือ
ด้าน Commercial และ
Social เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกัน
โดยใช้กำไรจากด้าน Commercial
มาสนับสนุนธุรกิจSocial อย่างไรก็ตาม
เมื่อนำกำไรมาสนับสนุนธุรกิจ Social
อาจทำให้ธนาคารมีกำไรลดลง ดังนั้น
ต้องมีแผนการทำงานที่ชัดเจน และพร้อมปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อ Balance ทั้ง
2 ธุรกิจให้สามารถสร้างความสำเร็จได้เพื่อให้เห็นว่าเดินมาถูกทาง”
วิทัยกล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2564
ธนาคารได้ขับเคลื่อนภารกิจธนาคารเพื่อสังคมอย่างเต็มกำลัง
และบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารด้วยในเวลาเดียวกัน โดยเน้นการควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้สามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้มากกว่าหมื่นล้านบาท
“การทำภารกิจเชิงสังคมให้เป็นเรื่องจริง มี Impact สูง
ควบคู่กับการมีกำไรที่ไม่น้อยลงจากเดิม
และแบงก์ต้องมีความแข็งแรงคือมีเงินสำรองที่มากขึ้นด้วย ดังนั้น การทำแบบนี้ในช่วง
COVID-19
ที่เราไม่สามารถหากำไรเพิ่มขึ้นได้ มีวิธีเดียวที่ทำได้คือการลดต้นทุน ซึ่งก็ไม่ง่ายแต่ก็สามารถทำได้โดยในปี
2564 ออมสินสามารถลดต้นทุนได้กว่าหมื่นล้านบาท”
ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานในปี 2564
ธนาคารได้นำไปช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ผ่านมาตรการเยียวยา
ฟื้นฟู และเสริมสภาพคล่องอย่างครบวงจรอย่างต่อเนื่องจากปี
2563 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 36
โครงการ โดยสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง
11.6 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า
1.8 ล้านล้านบาท และช่วยเหลือประชาชนจำนวนกว่า
2.61 ล้านคน ที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ ให้ได้มีสินเชื่อเป็นครั้งแรก ซึ่งธนาคารได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้
ธนาคารยังสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้สูงสุดในรอบ 3 ปีย้อนหลัง จำนวนเงิน 15,978
ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58
แห่ง ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและต้นทุนทางธุรกิจที่ลดลงมาก ทำให้ธนาคารสามารถยกระดับความแข็งแกร่งขององค์กร
โดยในปี 2564 ธนาคารได้ตั้งสำรองทั่วไป (General Provision) ได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 ธนาคารมีสินทรัพย์ 2.93 ล้านล้านบาท เงินฝาก
2.52 ล้านล้านบาท สินเชื่อ
2.21 ล้านล้านบาท ระดับ NPLs อยู่ที่
2.46% และ BIS Ratio อยู่ที่
15.86%
เผย 5 ภารกิจสำคัญปี 65
ภายใต้จุดยืนธนาคารเพื่อสังคม
วิทัยกล่าวว่า สำหรับปี 2565
ภายใต้จุดยืนธนาคารเพื่อสังคม ด้วยเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม ธนาคารมุ่งเน้นดำเนินการ 5 ภารกิจที่สำคัญประกอบด้วย
1. การสร้างงาน สร้างอาชีพ
เพื่อช่วยสร้างทักษะอาชีพ สนับสนุนเงินทุน และช่องทางการสร้างรายได้
ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องออกจากการจ้างงานจากวิกฤติโควิด
2. จัดทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ไและหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี
2565 โดยมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก
“มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีที่ดินอยู่ในมือแต่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นสภาพคล่องได้
ดังนั้น เราจึงรุกทำในเรื่องสินเชื่อที่ดินโดยตั้งเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมา
แล้วเราจะย้ายเอาสินเชื่อที่ดินไปไว้ในบริษัทลูก โดยให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ
8.99-9.99% ซึ่งหลังจากเสนอคณะกรรมการพิจารณาแล้ว คาดว่าจะออกสินเชื่อนี้ได้ช่วงกลางปีหน้า ทั้งนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องไม่ให้เข้าไปสู่หนี้นอกระบบ”
3. การพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ตโฟนด้วยแอป
MyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล
Alternative Data
Analytic หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน
MyMo ได้มากกว่า
1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท
นับว่าธนาคารประสบความสำเร็จสามารถเติมเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมากด้วยระยะเวลาอันสั้น
“ปีหน้าเราจะทำ Digital Lending อย่างเต็มรูปแบบ
โดยเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับรายเล็ก หรือ Micro Finance เพื่อเข้าไปแทรกแซงในตลาดหนี้นอกระบบ”
4. การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินเพื่อการเกษียณ
ซึ่งธนาคารเตรียมยกระดับการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ
เพื่อให้ประชาชนกลุ่มฐานรากมีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย
5. การขาย หรือ โอนหนี้
เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และมีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ซึ่งคาดว่ากฎกระทรวงจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับภายในปี
2565
รับรางวัลการันตีผลงาน
ดูแลประชาชนช่วง COVID-19
วิทัยกล่าวว่า
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก
ธนาคารออมสินได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมแบ่งเป็น
มาตรการทางเศรษฐกิจ
ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อเร่งด่วน ด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน
ช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยไปแล้ว เป็นจำนวนกว่า 3.3 ล้านราย
ทั้งผู้มีรายได้อิสระ และแรงงานในระบบอาชีพต่างๆ โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ประชาชนสามารถขอสินเชื่อในรูปแบบ Digital Lending
ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง
ธนาคารได้เติมสภาพคล่องให้กิจการ ผ่านโครงการสินเชื่อผ่อนเกณฑ์หลายโครงการ โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs มีที่
มีเงิน ที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้
โดยธนาคารไม่วิเคราะห์รายได้ช่วงสั้น แต่พิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันแทน
รวมถึงโครงการสำคัญที่ธนาคารได้เข้าทำธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
เพื่อกดดันลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดสินเชื่อกลุ่มนี้
ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรม
สำหรับมาตรการทางเศรษฐกิจอีกด้านคือ
การช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย โดยธนาคารได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ช่วยเหลือลูกหนี้ได้กว่า
3.4 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ที่เป็น NPLs
แล้วธนาคารยังได้ชะลอดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อช่วยลดความกังวลภายใต้สถานการณ์ยากลำบากครั้งนี้
มาตรการช่วยเหลือด้านสังคม
ธนาคารได้จัดทำโครงการออมสินห่วงใย ส่งกำลังใจให้สังคม เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งต่อความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า
ทำภารกิจต่างๆ เช่น
สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พักคอยทั่วเขตกรุงเทพมหานครการตั้งทีมไรเดอร์ออมสินห่วงใย
ส่งยารักษาแก่ผู้ป่วยกักตัวตามบ้าน การบริจาคทรัพย์สินธนาคารให้ใช้เป็นสถานที่แยกกักตัวในชุมชน การเปิด facebook เพจออมสินห่วงใยรับเรื่องขอความช่วยเหลือจากประชาชน
เป็นต้น
นอกจากนี้
ธนาคารยังจัดทำโครงการสร้างานสร้างอาชีพ เพื่อเสริมทักษะอาชีพต่างๆ
พร้อมทั้งให้เงินทุน และอุปกรณ์การค้าขาย เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูให้ผู้ที่ตกงาน
ถูกเลิกจ้าง ได้มีโอกาสทางอาชีพและสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว
วิทัยกล่าวว่า
จากความมุ่งมั่นในภารกิจการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ COVID-19
ทำให้ธนาคารออมสินได้รับรางวัล Most
Helpful Bank During COVID-19 in Thailand จาก The Asian Banker Thailand Awards 2021
ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าธนาคารออมสิน เป็นองค์กรลำดับต้นๆ
ที่โดดเด่นในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู
เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในฐานะธนาคารเพื่อสังคม
“การได้รางวัลไม่ได้หมายความว่าต้องการล่ารางวัล
แต่ว่าเป็นความภูมิใจของผมรวมถึงพนักงานด้วย ดังนั้น รางวัลก็มีบทบาท มีความสำคัญ ตอกย้ำว่า คนนอกองค์กรเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ โดยต่อจากนี้พร้อมเดินหน้าตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจธนาคารเพื่อสังคม เพื่อมอบความช่วยเหลือ เยียวยา และเร่งฟื้นฟู ให้ประชาชนและภาคธุรกิจ สามารถก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากในครั้งนี้ไปด้วยกัน”
รางวัลตอกย้ำความสำเร็จ “ธนาคารเพื่อสังคม”
จากการที่ธนาคารออมสินได้เดินหน้าการเป็นธนาคารเพื่อสังคมและทำภารกิจได้ตามเป้าหมาย
โดยมีหลายโครงการที่ส่งผลต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
ทำให้ธนาคารออมสินได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการขับเคลื่อนภารกิจธนาคารเพื่อสังคมในช่วงปี
2563-2564
ปี 2563
1. รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ปี 2563 แบ่งเป็น
รางวัลบริหารจัดการองค์กรดีเด่น,
รางวัลเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น, รางวัลการพัฒนาสู่รัฐวิสาหกิจดิจิทัล, รางวัลบริการดีเด่นและ
รางวัลคณะกรรมการดีเด่น
2. 2020 Winner Top Publisher : 10
อันดับแอปพลิเคชั่นชั้นนำของประเทศไทยด้านการเงิน
3. Best Bank 2020 in the Asia Pacific : นวัตกรรมดิจิทัลในการดำเนินงานด้านไอทีและการเติบโตของธุรกิจหลัก
4. Best Innovation In Retail Banking
Thailand 2020 :
นวัตกรรมการให้บริการทางการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อยแบบครบวงจร
5. The Asian Banker FINANCIAL
Technology Innovation Awards 2020 : Best Branch Digitization Implementation 2020
ปี 2564
1. Banker of the Year 2021 สุดยอดนักการธนาคารแห่งปี
2. รางวัลสุดยอดองค์กรคุณภาพมาตรฐานโลก (Thailand Quality Award)
3. The Prestigious Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) 2021
ประเภทธุรกิจการเงิน
4. Most Helpful Bank During COVID-19 in Thailand จาก
The Asian Banker
Thailand Awards 2021
5. ประกาศเกียรติคุณและยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งปี 2021 ภาคธุรกิจการเงินและธนาคาร จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ติดตามคอลัมน์ Exclusive Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2565 ฉบับที่ 477
ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi
รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt