THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

กงสีไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว (ตอนที่ 2) 10 ขั้นตอนจัดการกงสีให้ยั่งยืน

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

อย่าให้ “กงสี” ซึ่งเป็นของขวัญจากพ่อแม่และบรรพบุรุษ กลายเป็นสาเหตุของความเกลียดชัง และความทุกข์ที่จะอยู่กับเราตลอดไป

            "คนรวยที่แท้จริงคือคนที่ลูกๆ โผเข้ากอดแม้เมื่อเขากลับบ้านมือเปล่า” 

    ฉบับที่แล้ว เราคุยกันเรื่องนิยามของ “กงสี” ที่ว่ากงสีคือเงินกองกลางของครอบครัว และวิวัฒนาการ 3 ยุคของกงสี จากการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันของกงสีและธุรกิจครอบครัว มาเป็น “กงสี” และ “ธุรกิจครอบครัว” ที่แยกขาดออกจากกัน (กงสี คือ Family Fund และธุรกิจครอบครัว คือ Family Business) ไปจนถึงการตั้งคำถามสำคัญที่ว่า กงสีเป็นของใคร? 

            ฉบับนี้ เราจะมาคุยกันต่อในเรื่องที่ว่า “กงสี” ใช้ทำอะไรได้บ้าง? และผมจะชวนพวกเรามาเรียนรู้ 10 ขั้นตอน ของการบริหารจัดการกงสีให้ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่นกัน

กงสีใช้ทำอะไรได้บ้าง?

            กงสีของครอบครัวมักถูกใช้ไปในเรื่องต่างๆ มากมาย สุดแต่ใจของสมาชิกและแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่โดยส่วนมากแล้ว เงินกงสีจะถูกใช้ไปใน 4 รูปแบบที่สำคัญ ได้แก่ 

            1. สวัสดิการครอบครัว - หลายครอบครัวสร้าง “ระบบสวัสดิการ” ขึ้นมาเพื่อเป็นหลักประกันความอยู่ดีกินดีของสมาชิกตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต สวัสดิการที่ให้ก็มีตั้งแต่ เงินก้นถุงแต่งงาน ตั้งครรภ์ ทำคลอด บุตรหลานเรียนหนังสือ รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก เงินก้อนให้ไปลงทุนทำธุรกิจ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต เงินเดือนหลังเกษียณ ไปจนถึงค่าจัดการงานศพ เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องคิดเวลาจะจัดสวัสดิการครอบครัวคือ “เงินสวัสดิการจะมาจากไหน?” ตอบคำถามนี้ได้ เราก็ไปต่อได้!

            2. เงินสำรองธุรกิจครอบครัว - หลายๆ ตระกูลธุรกิจให้ความสำคัญกับการสำรองเงินไว้ในกงสีเพื่อเป็น “เงินทุนฉุกเฉิน” ยามจำเป็นสำหรับธุรกิจของตระกูล “ถ้าจ่ายเป็นเงินปันผลไปเดี๋ยวก็ใช้กันหมด การกันเงินส่วนหนึ่งจากเงินปันผลมาเก็บไว้ที่กองกลางจึงเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะถ้าวันหนึ่งเบทาโกรมีปัญหา ก็ยังเอาเงินกองกลางมาอัดฉีดช่วยได้” คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ แห่งตระกูลธุรกิจเบทาโกร เล่าเสริมถึงเหตุผลเบื้องหลังของการนำระบบกงสีครอบครัวกลับมาใช้อีกครั้ง

            3. เงินลงทุนร่วมกัน - “ทรัพย์สินเมื่อรวมอยู่ด้วยกันแล้ว ย่อมมีคุณค่ามากกว่าผลรวมของทรัพย์สินที่ถูกแยกออกเป็นส่วนๆ เป็นหลักสำคัญในการดูแลทรัพย์สินของครอบครัวให้เกิด Synergy สูงที่สุด” คือทรรศนะที่ คุณชาญ ศรีวิกรณ์ ทายาทแห่งตระกูลศรีวิกรณ์ เคยให้ไว้ และก็เป็นแนวคิดนี้บวกกับความจริงที่ว่า บางครั้งก็เป็นการยากที่จะแบ่งแยกทรัพย์สินในกงสีออกจากกัน จึงกลายเป็นความจำเป็นที่ครอบครัวจะต้องหาทางเอาเงินกงสีมาลงทุนให้เกิดดอกออกผล เพื่อไม่ให้เป็นการเสียโอกาส 

            4. สาธารณกุศล - หลายครอบครัวก็แบ่งเงินบางส่วนจากกงสีมาบริจาคเป็นสาธารณกุศล ถือเป็นการทำบุญร่วมกันของคนในตระกูล เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ที่ เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ ต้นตระกูลเตชะไพบูลย์ ร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจชาวจีนจัดตั้งขึ้นเมื่อกว่าร้อยปีก่อน หรือมูลนิธิในนามตระกูลต่างๆ โรงพยาบาล โรงเรียน สถานปฏิบัติธรรม ฯลฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ แก่สังคม เป็นต้น

 

จะจัดการกงสีอย่างไร : 10 ขั้นตอนจัดการกงสีให้ยั่งยืน

            การจัดการกงสีเป็นสิ่งที่ครอบครัวจำเป็นจะต้องพูดคุย เตรียมการให้ดี และจัดการให้เรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ผู้นำครอบครัว หรือผู้ถือครองทรัพย์สินของกงสียังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน พี่น้องยังรักกันดี พูดคุยกันได้ เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดเป็นอะไรไป หรือหากเกิดความขัดแย้งระหว่างกันแล้ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ การจัดการเรื่องกงสีจะยากยิ่งขึ้นเป็นทวีคุณ 

ในเรื่องกงสีนี้ ผมแบ่งการจัดการออกเป็น 10 ขั้นตอน เพื่อให้ครอบครัวที่สนใจสามารถนำไปปรับใช้ หรือใช้เป็นหัวข้อในการพูดคุยระหว่างกัน ดังนี้

จัดระเบียบให้ชัดเจน

            สามขั้นตอนแรกจะเป็นการจัดระเบียบของทรัพย์สินในกงสีให้เกิดความชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของครอบครัว (ที่ถือว่าเป็นส่วนกลาง) การทำหนังสือยืนยันการถือครองทรัพย์สินแทนครอบครัว รวมไปถึงการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งเพื่อเป็นตัวแทนถือครองทรัพย์สินต่างๆ ของกงสี

            1. จัดทำบัญชีทรัพย์สินของกงสี เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ มีอะไรบ้างที่เป็นของกงสี? อยู่ที่ไหน? ถือครองอยู่ในชื่อใคร? ใครใช้ประโยชน์อยู่? เป็นต้น การจัดทำบัญชีทรัพย์สินทำให้ครอบครัวรู้ว่าอะไรคือ “ทรัพย์สินส่วนตัว” อะไรคือ “ทรัพย์สินส่วนรวม” ทำให้เกิดความชัดเจน ลดข้อสงสัย (ที่บางครั้งสมาชิกก็ไม่กล้าถาม หรือพูดถึง) ถือเป็นการวางพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกครอบครัว

            2. ทำหนังสือยืนยันการถือครองทรัพย์สินแทนครอบครัว หากมีการให้สมาชิกรายใดถือครองทรัพย์สินแทนกงสี ครอบครัวอาจพิจารณาให้มีการทำ “หนังสือยืนยันการถือครองทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว” เพื่อให้เกิดความชัดเจน ลดโอกาสการโต้แย้งและความเข้าใจไม่ตรงกันในภายหลังสิ่งที่จะต้องบอกไว้ในเรื่องนี้คือ การทำหนังสือถือทรัพย์แทนนั้น ไม่ใช่ไม่ไว้ใจ แต่คนเรานั้นลืมเก่ง จึงแนะนำให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ กันลืม และสบายใจกันทุกฝ่าย

            3. จัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ข้อนี้ต้องถือเป็นทางเลือกของครอบครัว จะทำหรือไม่ทำก็ได้ หลายครอบครัวเลือกใช้บริษัทโฮลดิ้งเป็นเครื่องมือในการรวบรวมทรัพย์สินของกงสีให้อยู่ในที่ๆ เดียว คือให้บริษัทโฮลดิ้งเป็นเจ้าของถือครองที่ดิน และทรัพย์สินต่างๆ ของกงสี แล้วก็ให้สมาชิกเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งนั้นอีกที วิธีนี้จะทำให้กงสีรวมกันเป็นก้อนเดียวกัน จะซื้อจะขายทรัพย์สินของกงสีก็สามารถทำผ่านบริษัทโฮลดิ้งได้ ไม่ต้องใช้บุคคลมาดำเนินการให้วุ่นวายในภายหลัง

จัดกติกาให้ใช้ได้จริง

            สามขั้นตอนถัดมาคือ การกำหนดกติกาในการใช้เงินกงสี เพราะกงสีเป็นของส่วนกลาง การจะใช้เงินกงสีจึงเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันให้ดี มิเช่นนั้นก็อาจขัดแย้งกันได้ ก็จะเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายและกติกาการใช้เงินกงสีร่วมกัน แล้วก็มาคำนวณรายรับ-รายจ่ายของกงสีว่าพอหรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่ และข้อสุดท้ายคือ การกำหนด “ผู้จัดการกงสี” เพื่อเข้ามาดูแลรายรับ-รายจ่ายของกงสีให้เป็นไปอย่างที่ตกลงกันไว้

            4. กำหนดนโยบายและกติกาการใช้เงินร่วมกัน เช่น ครอบครัวจะใช้เงินกงสีไปในเรื่องใดบ้าง? ถ้าจะมีสวัสดิการ ต้องกำหนดเกณฑ์อะไรบ้าง? ใครมีสิทธิ? ได้เท่าไหร่? ถ้าจะใช้เงินกงสีเพื่อลงทุนร่วมกัน เกณฑ์การลงทุนคืออะไร? กรอบวงเงิน? สัดส่วนการถือหุ้นในการลงทุนนั้นๆ? กรอบการกู้หนี้? การค้ำประกัน? หรือถ้าจะมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น จัดทริปไปต่างประเทศ หรือเลี้ยงสังสรรค์ งบประมาณเท่าไหร่? ใครเข้าร่วมได้บ้าง? เป็นต้น กติกาในส่วนนี้มักถูกกำหนดขึ้นระหว่างการจัดทำธรรมนูญครอบครัว เมื่อกำหนดนโยบาย และกฎเกณฑ์เหล่านี้แล้ว ครอบครัวจะสามารถคาดการณ์รายจ่ายในแต่ละปีได้อย่างคร่าวๆ 

            5. คำนวณรายรับ-รายจ่ายของกงสี รายรับ เช่น รายได้จากค่าเช่าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ การขายทรัพย์สิน รายได้เงินปันผลจากธุรกิจต่างๆ ที่กงสีเข้าไปลงทุนถือหุ้น ดอกเบี้ยเงินฝาก ฯลฯ เป็นต้น รายจ่าย เช่น รายจ่ายสวัสดิการครอบครัว รายจ่ายเพื่อการลงทุนร่วมกัน หรือรายจ่ายอื่นใดที่ครอบครัวตกลงร่วมกันเป็นต้น การคำนวณรายรับ-รายจ่ายของกงสีนี้ จะทำให้เรารู้ว่ากงสีมีรายได้เพียงพอที่ใช้ตามนโยบายที่สมาชิกต้องการ (ในข้อ 4) หรือไม่

            6. ตั้ง “ผู้จัดการกงสี” เป็นผู้รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินจากกงสี โดยให้เป็นไปตามกติกาและระเบียบที่สมาชิกตกลงกันไว้ บางครอบครัวอาจมีการจัดตั้ง Family Office หรือ “สำนักงานครอบครัว” ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยของผู้จัดการกงสี ก็จะช่วยลดภาระงานของผู้จัดการกงสีไปได้มาก Family Office นั้น เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมาก และมีการเบิกจ่ายเงินบ่อยครั้ง “ผู้จัดการกงสี” อาจถูกคัดเลือกมาจากสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่ง หรือคนนอกที่ครอบครัวไว้ใจให้เข้ามาดูแลจัดการเงินกองกลางนี้ก็ได้ ไม่มีข้อกำหนดตายตัว

จัดการให้ยั่งยืน

            ส่วนสุดท้ายเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของกงสี ครอบครัวจำเป็นจะต้องจัดการใน 4 เรื่องนี้ เริ่มต้นจากการควบคุมไม่ให้มีการใช้เงินกงสีมากกว่าที่กงสีจะหามาได้ การกำหนดวงเงินฉุกเฉินเพื่ออัดฉีดเข้าไปในธุรกิจครอบครัวกรณีวิกฤติ รวมถึงการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น และพินัยกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง และหุ้นของธุรกิจครอบครัว 

            7. รักษาสมดุลรายรับ-รายจ่าย ของกงสี มิเช่นนั้น เงินกงสีอาจร่อยหรอและหมดไปได้ในที่สุด

            8. กำหนดวงเงินฉุกเฉินสำหรับธุรกิจ ครอบครัวควรเตรียมเงินสด หรือทรัพย์สินที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว (เช่น หุ้นกู้ หรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง) ไว้จำนวนหนึ่งเพื่อสามารถนำไปอัดฉีดเข้าธุรกิจครอบครัวได้ในกรณีฉุกเฉินเรื่องวงเงินฉุกเฉินนี้ ควรมีการพูดคุยกันก่อนในเวลาที่ยังไม่มีปัญหา เพราะเมื่อเกิดวิกฤติ จะได้นำเงินฉุกเฉินนั้นออกมาใช้ได้ทัน

            9. จัดทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง แล้วนำไปผนวกเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งก็จะทำให้สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นนั้นเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป โดยสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นจะมีข้อตกลงที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย โอนหุ้น เช่น การห้ามไม่ให้ขายหุ้นให้กับคนนอกตระกูล หรือหากจะขายหุ้นให้กับสายตระกูลอื่น จะต้องเสนอขายให้กับคนในสายตระกูลเดียวกันก่อน (Right of first refusal) 

            หรือในกรณีที่บรรดาผู้ถือหุ้นไม่อาจผ่านมติที่ประชุมได้ (Dead Lock) ก็อาจมีข้อกำหนดหรือมาตรการให้ผู้ถือหุ้นปฏิบัติเพื่อให้สามารถบริหารจัดการบริษัทโฮลดิ้งต่อไปได้เป็นต้น นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทโฮลดิ้งมีหุ้นบุริมสิทธิ สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นและข้อบังคับบริษัทโฮลดิ้งก็จะต้องระบุข้อมูลสัดส่วนสิทธิออกเสียงหรือสิทธิในการได้รับเงินปันผลของผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิไว้ด้วย 

            10. จัดการพินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหุ้น เช่น หุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง หรือหุ้นของธุรกิจครอบครัว เป็นต้น ในส่วนนี้ สมาชิกครอบครัวแต่ละคนที่เป็นผู้ถือหุ้นจะต้องไปดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ (อาจผูกเรื่องพินัยกรรมเข้ากับสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นได้) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หุ้นยังคงอยู่ในมือของคนในตระกูล เช่น ให้สมาชิกครอบครัวที่ถือหุ้นเขียนพินัยกรรมยกหุ้นให้กับทายาทตามสายเลือด หรือญาติพี่น้องในตระกูล เป็นต้น ยกเว้น ครอบครัวคุยกันแล้วว่าไม่ซีเรียสที่จะให้คนนอกเข้ามาถือหุ้นของธุรกิจครอบครัว

 

            อย่าให้ “กงสี” ซึ่งเป็นของขวัญจากพ่อแม่และบรรพบุรุษ กลายเป็นสาเหตุของความเกลียดชัง และความทุกข์ที่จะอยู่กับเราตลอดไป สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากข้อคิดจาก คุณบุญเกียรติ โชควัฒนา บุตรคนสุดท้องของ ดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ที่ว่า “กับครอบครัว สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่กลัวที่จะเสียเปรียบ เพราะในความเป็นจริง การเสียเปรียบยังดีกว่าได้เปรียบ”

(ขอขอบคุณ คุณปรัชญ์ คุปพิทยานันท์ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด สำหรับคำแนะนำในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บทความนี้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น)

อ้างอิง

  “A truly rich man is one whose children run into his arms when his hands are empty.” - Unknown via THEDAILYQUOUTES.COM


เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน