THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

สืบทอดธุรกิจครอบครัว เตรียมความพร้อมเพื่อส่งมอบกิจการครอบครัว (ตอนแรก)

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

เพราะความถนัด และความชอบในการทำธุรกิจนั้นไม่ได้ส่งผ่านทาง DNA และไม่ใช่ทายาททุกคนจะเกิดมาเป็นผู้บริหารธุรกิจทางเลือกของลูกหลาน จึงควรมีมากกว่าแค่ “จะทำ” หรือ “จะไม่ทำ” ธุรกิจครอบครัว อย่าจำกัดกรอบความคิดอยู่แค่ว่า “สืบทอดธุรกิจครอบครัว” คือต้องเข้ามาทำเต็มตัวเพียงเท่านั้น

ทายาทส่วนใหญ่ไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว

            ส่วนเหตุผลที่ทายาทเข้ามาทำธุรกิจครอบครัว หลักๆ คือ อยากเข้ามาช่วยคุณพ่อ-แม่ ไม่ใช่เพราะแฟนซีการทำงานในธุรกิจครอบครัว นี่เป็นเหตุผลสำคัญอย่างไม่เป็นทางการตามการเก็บสถิติส่วนตัวของผม ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร The Economist เมื่อปี 2015 พบว่า กว่า 80% ของทายาทธุรกิจครอบครัว ไม่เต็มใจที่จะสืบทอดกิจการของตระกูล!

ทำไมทายาทธุรกิจครอบครัวถึงไม่อยากสืบทอดธุรกิจครอบครัว?

            งานวิจัยข้างต้นได้บ่งชี้ 4 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ทายาทไม่ต้องการสืบทอดกิจการครอบครัว ได้แก่

            • ความสำเร็จของพ่อแม่กลายเป็นอุปสรรคของทายาท

            • ทายาทมักจะไม่ได้รับเครดิตจากความสำเร็จ

            • พ่อ-แม่ยังไม่ปล่อยวาง (จริงๆ) และ

            • ทายาทอาจไม่เหมาะกับการเป็นผู้บริหารธุรกิจครอบครัว

            มองไปยังญี่ปุ่น หนึ่งในประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจของเอเชียก็จะพบกับปัญหาที่คล้ายๆ กัน “ทุกๆ ปีนับจากนี้ไปอีก 2 ทศวรรษ ธุรกิจในญี่ปุ่นมากกว่า 40,000 บริษัทต่อปีจะประสบความยากลำบากในการหาผู้สืบทอดธุรกิจ” คุณนารูฮิโกะ ซากามากิ จากบริษัทหลักทรัพย์ Nomura ได้ประมาณการเอาไว้ในรายงานเรื่องการควบรวมกิจการของธุรกิจ SME ในญี่ปุ่น เมื่อปี 2017 ซึ่งถ้าเอามาคำนวณก็จะได้ประมาณกว่า 800,000 บริษัท ที่อาจจะต้องปิดตัวลงจากเหตุผลที่ว่า “ไม่มีผู้สืบทอดธุรกิจ” ในช่วงอีก 20 ปีข้างหน้า 

            ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถที่จะสร้างหรือหา “ทายาท” มารับช่วงกิจการได้ไม่ว่า “ทายาท” เหล่านั้นจะเป็นลูกหลานของครอบครัว หรือพนักงานของบริษัทที่มีศักยภาพ แต่อีกด้านก็เป็นสาเหตุที่มาจากตัวทายาทเอง เช่น ไม่มีความสนใจในธุรกิจของตระกูลจึงเลือกที่จะออกไปทำงานอื่นๆ หรือมองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจครอบครัวว่าจะเติบโตหรืออยู่รอดต่อไปในอนาคตได้อย่างไร หรือทายาทบางคนอาจมีเหตุผลส่วนตัวทำให้ต้องย้ายที่อยู่ออกไป ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคของการทำงานในธุรกิจครอบครัว เป็นต้น

แล้วในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัวจะทำอย่างไรกันดี?

สืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็น “หน้าที่” หรือ “สิทธิ” ของทายาท?

            อย่าลืมว่า ทายาทรุ่นใหม่มีโอกาสและทางเลือกในชีวิตมากกว่าคนรุ่นก่อนมาก ด้วยพื้นฐานการศึกษาที่ดีกว่า ประกอบกับสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้การกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวเป็นเพียงหนึ่งในทางเลือกมากมายของพวกเขาแต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทายาทมี “สิทธิ” ที่จะเลือกจริงหรือ? หรือเป็น “หน้าที่” ที่ผูกติดตัวพวกเขามาตั้งแต่เกิด?

            นี่เป็นคำถามสำคัญที่คนทั้งสองเจเนอเรชั่นควรได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน “หน้าที่” พูดง่ายๆ ว่าคือสิ่งที่ต้องทำ ทายาทเลือกไม่ได้ ในขณะที่ “สิทธิ” คือ สิ่งที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ทายาทเลือกได้ตามความพอใจ เช่น หากมองว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นหน้าที่แล้วละก็ ทายาทก็ไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะเข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัว 

            แต่หากมองว่าการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเป็นสิทธิแล้วละก็ ทายาทก็อาจจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น ผมอยากให้พวกเราลองฟังมุมมองของทายาทธุรกิจครอบครัว 3 คนที่มีมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนี้

การสืบทอดเป็น “หน้าที่”

            คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลภิรมย์ภักดี (เบียร์สิงห์) เคยกล่าวไว้ว่า “ในการทำธุรกิจครอบครัวของผม ผมคิดว่าบริษัทนี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมา ผมคงจะปล่อยให้ล้มในช่วงที่ผมยังอยู่ไม่ได้ ครอบครัวเรามีสัญญาใจที่จะต้องทำธุรกิจให้รอด ซึ่งทุกคนยินยอมเสียสละทุกอย่าง เพราะอยากเห็นความอยู่รอดของบริษัท” 

            หรือคำกล่าวที่ว่า “A family business is not a business you inherit from your parents, it is a business you borrow from your children.” ได้สะท้อนมุมมองของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวว่าเป็น “หน้าที่” ของลูกหลานที่จะต้องดูแลสืบทอดกิจการของตระกูลต่อไป การละทิ้ง ไม่เข้ามาช่วยถือว่าไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่

การสืบทอดเป็น “สิทธิ”

            คุณบัณฑูร ล่ำซำ ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ อาจมีมุมมองที่ต่างออกไป “สำหรับผม ความกดดันที่อยากจะทำให้ดีก็ยังมีอยู่ และผมก็ไม่อยากให้มันพังไปในตอนที่ผมอยู่...แต่ผมจะไม่ทำอย่างนั้นกับลูกของผม จะไม่กดดันเขาว่าต้องไปเรียนเอ็มบีเอ ผมอยากให้เขาเรียนอะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตมีมุมมองที่มีความหมาย มีมุมมองที่กว้าง สามารถไปประกอบสัมมาอาชีพได้” คำกล่าวข้างต้นสะท้อนมุมมองของคุณบัณฑูรที่ว่า การสืบทอดธุรกิจครอบครัวถือเป็น “สิทธิ” ของลูกหลานว่าจะเข้ามาทำธุรกิจของตระกูลหรือไม่ ทายาทสามารถเลือกได้ตามความสมัครใจ

การสืบทอดขึ้นกับ “ความจำเป็น”

            คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเจ้าของอาณาจักรเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เคยให้ทรรศนะไว้ว่า “ถ้าธุรกิจครอบครัวนั้นดีอยู่แล้ว จะไม่ให้ทายาทเข้ามาทำ เพราะถึงทายาทมีฝีมือ ฝีมือก็จะไม่ปรากฏ และถ้าทายาทไม่มีฝีมือ จากที่ธุรกิจดีก็อาจจะกลายเป็นแย่ลงไป และอาจมีผลต่อความมุ่งมั่นของผู้บริหารของบริษัท ดังนั้น คุณธนินทร์จึงชอบที่จะให้ลูกหลานออกไปพิสูจน์ตัวเองโดยให้ไปบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ” 

            แนวคิดนี้สะท้อนมุมมองที่ว่า ถ้าธุรกิจดีอยู่แล้วทายาทไม่ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยว แต่ถ้าธุรกิจครอบครัวมีปัญหาจะถือเป็น “หน้าที่” ของทายาทที่จะต้องเข้ามาช่วย ดังนั้น การสืบทอดฯ จะเป็นหน้าที่หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์” และ “ความจำเป็น” ของธุรกิจครอบครัวในขณะนั้นๆ 

            ทั้ง 3 แนวคิดที่กล่าวมา คงไม่มีใครตอบได้ว่าความคิดของใครถูกกว่าใคร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะสืบทอดหรือไม่สืบทอดธุรกิจของครอบครัวก็ตาม เราไม่ควรที่จะเอามาผูกกับ “ความกตัญญู” ของลูกหลาน เพราะเป็นคนละเรื่องกัน พวกเขาอาจจะไม่อยากสืบทอดธุรกิจ แต่อาจอยากจะดูแลคุณพ่อคุณแม่ตลอดไปก็เป็นได้ การผูกประเด็นเรื่องการสืบทอดธุรกิจครอบครัวกับความกตัญญูจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการบันทอนความรู้สึกของกันและกันโดยไม่จำเป็น

“สืบทอดธุรกิจครอบครัว” ใน 4 บทบาท

            เพราะความถนัด และความชอบในการทำธุรกิจนั้นไม่ได้ส่งผ่านทาง DNA และไม่ใช่ทายาททุกคนจะเกิดมาเป็นผู้บริหารธุรกิจทางเลือกของลูกหลานจึงควรมีมากกว่าแค่ “จะทำ” หรือ “จะไม่ทำ” ธุรกิจครอบครัว อย่าจำกัดกรอบความคิดอยู่แค่ว่า “สืบทอดธุรกิจครอบครัว” คือต้องเข้ามาทำเต็มตัวเพียงเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วเข้ามาทำแค่ครึ่งตัวก็ยังดี หรือแม้กระทั่งเข้ามาช่วยอะไรก็ได้ในเรื่องที่ทายาทถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดกิจการแล้ว

            การเพิ่มทางเลือกของการมีส่วนร่วม “สืบทอดธุรกิจครอบครัว” ของลูกหลานนั้นทำได้โดยการแบ่ง “บทบาท” ของทายาทออกมาให้ชัดเจน ซึ่งเราสามารถแบ่งออกเป็น 4 บทบาทที่พวกเขาจะสามารถเข้ามา “ช่วย” ธุรกิจครอบครัวได้ ได้แก่ 

            1.Manage คือ การบริหารธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่แต่เดิม

            2.Found คือการออกไปบุกเบิกสร้างธุรกิจใหม่ให้กับครอบครัว

            3.Control คือ การกำกับดูแลการบริหารงานของธุรกิจครอบครัวทั้งของเดิมและของใหม่ 

            4. Support คือ การช่วยธุรกิจครอบครัวตามความสามารถ และศักยภาพที่ตนมี โดยแต่ละบทบาทจะมีหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลตอบแทนการทำงานในบทบาทนั้นๆ แตกต่างกันไปตามแต่จะตกลงกัน และไม่จำกัดว่าทายาทจะต้องถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวอยู่ด้วยหรือไม่ 


            ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่าลูกหลานทุกคนจะต้องเข้ามาเป็น “ผู้บริหาร” ของธุรกิจครอบครัว หรือครอบครัวอาจจะจัดสรรเงินก้อนหนึ่ง หรือที่แปลงหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้ทำอะไร ให้ลูกหลานเอาไปต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ให้กับครอบครัวก็ได้ (เพียงแต่ต้องมาคุยกันให้ชัดว่า ใครจะลงทุน ใครจะลงแรง หากกำไรจะแบ่งกันอย่างไร และหากขาดทุนจะตกอยู่กับใคร ฯลฯ) 

            และก็ไม่ผิดหากสมาชิกบางคนเลือกที่จะเป็นเพียง “กรรมการบริษัท” หรือ “ผู้ถือหุ้น” แต่เพียงอย่างเดียว (แต่กรรมการ และผู้ถือหุ้นก็มีหน้าที่ คือ การกำกับดูแลการบริหารงานของธุรกิจครอบครัวให้อยู่ในทิศทางที่ครอบครัวกำหนด และช่วยรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นด้วยการเข้าประชุมบอร์ด หรือการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น) 

            และแม้ทายาทจะไม่เลือกทั้งการบริหารธุรกิจเดิม (Manage) หรือสร้างธุรกิจใหม่ (Found) ทายาทก็ยังสามารถช่วยสนับสนุน (Support) ธุรกิจครอบครัวในด้านอื่นๆ ได้ แต่ในกรณีที่ทายาทไม่สามารถช่วยสนับสนุนด้านใดๆ ได้เลย เช่น อาจจะอยู่ต่างประเทศ หรือมีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถช่วยกิจการครอบครัวได้ ทายาทที่ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัวอยู่ก็ยังต้องมีบทบาทในการ “กำกับ” (Control) ธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างน้อย (ไม่ว่าจะเป็นทางอ้อมผ่านการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น หรือทางตรงด้วยการเป็นกรรมการบริษัทครอบครัว) มิเช่นนั้น หากผู้บริหารสร้างความเสียหายขึ้นมาก็จะกระทบกับตัวเองและคนในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้การ “กำกับ” ดูแลธุรกิจครอบครัวจึงเป็นหน้าที่ๆ เกิดขึ้นเมื่อสมาชิกครอบครัวถือหุ้น

            ดังนั้น การจะให้ทายาทเข้ามาช่วยงานในธุรกิจครอบครัว คุณพ่อ-แม่จึงต้องพยายามเปิดประตูให้กว้างเข้าไว้ ไม่ไปกำหนดกะเกณฑ์ว่าต้องให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ ให้โอกาสพวกเขา “หามุมที่ใช่” ให้พวกเขาได้ “ออกแบบงาน” ที่จะช่วยธุรกิจของครอบครัวได้และเหมาะกับเขาที่สุด มากกว่าไปบังคับให้เขาทำในสิ่งที่พ่อ-แม่เห็นว่าดีที่สุด เหมาะที่สุด 


เพราะดีที่สุด หรือเหมาะที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

เตรียมความพร้อมก่อนส่งมอบ

            การเตรียมความพร้อมก็ต้องทำกันทั้งผู้ส่งมอบ (พ่อ-แม่) และผู้รับมอบธุรกิจ (ทายาท) ไปพร้อมๆ กัน โดยมีคำแนะนำเบื้องต้น ดังนี้

เตรียมความพร้อมทายาท

            1. สร้างความผูกพันกับธุรกิจครอบครัว - เริ่มกันตั้งแต่ยังเด็กๆก็ให้เข้ามาช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เมื่อโตขึ้นก็ให้เข้ามาทำงานกับบริษัท หรือบางครอบครัวใหญ่ๆ ก็มีโปรแกรมเทรนนิ่งให้กับทายาทกันเป็นเรื่องเป็นราว สอนกันทั้งความรู้ในเชิงธุรกิจ ความเป็นผู้นำ รวมไปถึงค่านิยม และประวัติความเป็นมาของธุรกิจครอบครัว ซึ่งก็ถือเป็นกุศโลบายที่ต้องการให้ทายาทได้ใกล้ชิดผูกพันกับกิจการของครอบครัว 

            2. กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของทายาทที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว - ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ลูกหลานได้รับรู้ความคาดหวังของธุรกิจ และเหล่าผู้นำครอบครัว ไว้แต่เนิ่นๆ เช่น จะต้องเรียนสูงแค่ไหน มีประสบการณ์ทำงานด้านไหน-กี่ปี พูดได้กี่ภาษา เป็นต้น จะได้เตรียมตัวได้ถูก (หากสนใจจะทำ)

ขั้นตอนต่อไปคือช่วงที่ทายาทเริ่มเข้ามาทำในธุรกิจครอบครัว (ที่ไม่ใช่แค่ฝึกงาน) โดยมีคำแนะนำดังนี้ 

            3. วางทายาทในตำแหน่งที่ช่วยเติมในส่วนที่ขาด และต่อยอดในส่วนที่เป็นจุดแข็งของทายาท - เพื่อให้พวกเขาได้มีเวลาปรับตัว และมีโอกาสในการพัฒนาความรู้และทักษะที่ยังขาด ก่อนที่จะวางตัวพวกเขาในตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบและความกดดันที่สูงต่อไป 

            4. พ่อ-แม่อาจทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล (Mentor) ให้แก่เหล่าทายาทที่เข้ามาทำงาน - การเป็น Mentor ที่ดีนั้นเป็นจุดสมดุลที่อยู่ระหว่างเพื่อนซี้ที่คอยให้กำลังใจ (เชียร์) ครูที่คอยสอนงาน (สอน) และคอมเมนเตเตอร์ที่คอยวิจารณ์ (ด่า)โดยคุณพ่อ-คุณแม่ต้องทำหน้าที่ทั้ง 3 ด้าน ไม่ใช่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็ยากที่จะทำหน้าที่ทั้ง 3 ให้ได้ดีพร้อมๆ กัน ดังนั้น การหาพี่เลี้ยงซักคนเข้ามาเป็น Mentor ให้กับทายาทก็อาจจะเป็นความคิดที่ดี

            5. ให้โอกาสทายาทได้แสดงฝีมือ - เพื่อสร้างความมั่นใจ (Confidence) และความเชื่อมั่น (Credibility)ในสายตาสมาชิกครอบครัวและพนักงานตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ของการทำงานเพื่อปูทางไปสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูงต่อไป

            6. หมุนเวียนงานเพื่อหาจุดที่ลงตัว - ผลงานจะเป็นตัวบอกว่าทายาทเหมาะสมกับงานในลักษณะใดแล้วความสำเร็จขั้นต้นจะต่อยอดความสำเร็จขั้นต่อไป แต่ถ้าผลงานบ่งบอกว่าทายาทไม่เหมาะสมกับสิ่งที่ทำอยู่ อาจพิจารณาเปลี่ยนงาน เปลี่ยนตำแหน่งใหม่เพื่อหาจุดที่ลงตัวมากกว่า

            7. ให้ค่าตอบแทนที่จูงใจ แต่ถ้าให้ไม่ได้..ก็แค่ให้กำลังใจ - การให้เงินเดือนสูงๆ เป็นเพียงวิธีหนึ่งในการจูงใจ แต่ไม่ใช่วิธีเดียว การให้อิสระพวกเขาในการคิด มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือการรับเอาวิธีการทำงานของทายาทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทำงานขององค์กร ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะ “จูงใจ” เหล่าทายาทให้“อยาก” ที่จะเข้ามาสืบทอดกิจการของตระกูล

เตรียมความพร้อมของพ่อ-แม่

            ปัญหาสำคัญที่เห็นบ่อยครั้ง คือ พ่อแม่มักจะให้หน้าที่ความรับผิดชอบ (Responsibility) แก่ลูกๆ แต่ไม่ให้อำนาจพวกเขาในการตัดสินใจ (Authority) หรือที่แย่ยิ่งกว่าคือการ Over-ride การตัดสินใจของพวกเขา พฤติกรรมเหล่านี้ของพ่อแม่กำลังบอกกับทายาทว่า “ฉันยังไม่เชื่อใจพวกเธอ” “ฉันยังไม่ยอมรับในความสามารถของพวกเธอ” ซึ่งบั่นทอนกำลังใจของทายาทเป็นอย่างมาก คำแนะนำในการแก้ปัญหานี้ก็คือ

            1. เรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ - ค่อยๆ เปลี่ยนจากพูดมาก เป็นฟังมากขึ้น พ่อแม่รับฟังความคิดเห็นของทายาทอย่างตั้งใจ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูดอย่างเต็มที่โดยคุณไม่ขัด แต่คุณถามได้ถ้าไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูด โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าใจพวกเขาให้ได้มากที่สุด คุณอาจไม่เห็นด้วย ซึ่งอาจแสดงความไม่เห็นด้วยได้ หลังจากที่พวกเขาพูดเสร็จแล้ว

            2. ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจครั้งสำคัญ- ถามความคิดเห็นของพวกเขา และตัดสินใจร่วมกันกับพวกเขา ซึ่งอาจเสียเวลาบ้าง แต่นี่คือการ “ซื้อใจ” ทายาทได้ดีที่สุด 

            3. กำหนด “กติกา” ในการทำงานร่วมกัน- กติกาของการทำงานร่วมกัน เช่น ถ้าหากไม่เห็นด้วยในเรื่องใดก็ตามให้มีการพูดคุยกันส่วนตัวก่อนจะไม่มีการขัดแย้งในที่ประชุมให้พนักงานเห็น หรือจะไม่หักหน้ากันในที่ประชุม หรือเรื่อง Over-ride เป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง เป็นต้น

            4. ทยอยถ่ายงานพร้อมให้อำนาจตัดสินใจ (ที่แท้จริง!) -ให้อำนาจตัดสินใจแก่ทายาทเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำอย่างต่อเนื่อง ให้พวกเขาได้ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของเวที ในขณะที่พ่อ-แม่ค่อยๆ ถอยลงไปข้างเวทีเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

            5. หาเป้าหมายใหม่ในชีวิต– ความผูกผันของคุณพ่อ-คุณแม่ กับธุรกิจครอบครัวที่ทำมาหลายสิบปีนั้น เป็นสายใยที่แข็งแรงมาก ความห่วงธุรกิจ และห่วงลูกๆ ว่าเขาจะทำได้หรือไม่ จะทำให้คุณพ่อ-คุณแม่ไม่อาจละวางจากธุรกิจครอบครัวได้ การค้นหาเป้าหมายใหม่ในชีวิต เช่น การมุ่งทำงานการกุศลเพื่อสังคม การเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่สนใจ เช่น ดนตรี ศิลปะ ศาสนา หรือการให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลาดูแลคนที่เรารัก ไปเที่ยวกัน ไปออกกำลังกายร่วมกันอาจเป็น “เป้าหมายใหม่” ที่ช่วยให้คุณพ่อ-คุณแม่ละวางจากธุรกิจครอบครัวได้

    ในตอนต่อไปของซีรีย์การสืบทอดธุรกิจครอบครัว เราจะมาคุยกันถึงเรื่องคุณสมบัติของทายาทที่จะมาสืบทอดกิจการ บทบาทของ “คนนอก” ในธุรกิจครอบครัว ความคาดหวังของคนสองเจเนอเรชั่น และการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในระยะยาว

    แล้วพบกันในตอนต่อไปครับ

Resources:

“Reluctant heirs,” Schumpeter, The Economist, 2015(The survey was conducted by Peking University)

“Succession crisis stalks Japan’s family business,” Leo Lewis for Financial Times

“Small firms dying out as successors hard to find,” TetsushiKajimoto for Reuters

“China family-run companies face succession issue,” Zlata Rodionova for Independent

“Dynamics of Family Business: The Chinese Way,” Fock Siew Tong


เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน