ธรรมนูญครอบครัวที่มี ดีแล้วหรือยัง?
“ครอบครัวที่มีความสุขคือสวรรค์ชั้นแรก”[1]
- George Bernard Shaw
การแก้ไขธรรมนูญครอบครัวนั้นก็ต้องเป็นการ “แก้ไขได้อย่างมีกติกา” ไม่ใช่คิดว่าจะแก้ก็แก้
สองสามวันก็แก้ทีอย่างนี้ก็เป็นปัญหา ครอบครัวจึงต้องกำหนด “กติกา”
ในการแก้ไขธรรมนูญให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น จึงจะช่วยลดปัญหาได้
“ยังไงถึงเรียกว่าดี ?”
สำหรับครอบครัวที่เริ่มเขียนธรรมนูญครอบครัวแล้ว
นี่อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย
ในช่วงปีแรกที่ผมเขียนบทความเกี่ยวกับธรรมนูญครอบครัว
คำถามส่วนใหญ่ที่ได้รับคือ “จำเป็นต้องมีธรรมนูญครอบครัวหรือไม่?” แต่ปัจจุบันครอบครัวต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามาจะมาพร้อมกับ “ร่างธรรมนูญ” คร่าวๆ หลายคนมีไอเดียอยู่แล้วว่าจะเขียนอะไรในธรรมนูญ
หรือแม้กระทั้งเขียนขึ้นมาเป็นต้นฉบับเรียบร้อยแล้ว คำถามที่ได้ยินบ่อยๆ
ในปัจจุบันจึงกลายเป็น “ธรรมนูญแบบไหนถึงเรียกว่าดี?”
วันนี้เลยอยากจะมาแชร์แนวทางการเขียนธรรมนูญครอบครัวที่ผมคิดว่า “ดี” ย้ำนะครับว่าเป็นเพียงมุมมองของผม คนอื่นอาจมีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งสำหรับผมแล้วมีคุณลักษณะสำคัญอยู่ 4 ประการที่ทำให้ธรรมนูญครอบครัวนั้น “ดี” ได้แก่
1. ชัดเจน
ดีเพราะเขียนไว้ชัดเจน เข้าใจง่าย
นำไปปฏิบัติตามได้ (Implementable) เพราะธรรมนูญครอบครัวเป็นกติกาของคนหมู่มาก
คุณลักษณะสำคัญประการแรกจึงเป็นความชัดเจนของข้อตกลง ไล่มาตั้งแต่หลักการมีความชัดเจน
กำหนดนโยบายที่ชัดเจน และรายละเอียดปลีกย่อยของกติกาที่ชัดเจน เขียนด้วยภาษาที่สมาชิกครอบครัวทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ
(ภาษาชาวบ้าน) โดยเฉพาะในส่วนของหลักการ และนโยบาย (ข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติ)
ให้สั้น กระชับ แต่ในส่วนของรายละเอียดอาจใช้ภาษาชาวบ้านบวกภาษาทางการ
(เมื่อจำเป็น) เพื่อให้ถูกต้องตรงตามกฎหมายได้ (หากยาวหรือมีจำนวนมากให้ตัดไปใส่ไว้ในส่วนแนบท้ายของธรรมนูญ)
บางครอบครัวอาจมีการเขียน “เหตุผลที่มา” หรือ “กติกาเดิม”
ไว้ด้วยซึ่งก็ยิ่งดี เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจในกติกาข้อนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ความชัดเจนของกติกาครอบครัว
จะทำให้มีข้อโต้แย้งน้อย สมาชิกเข้าใจตรงกัน อันจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงของสมาชิก
2. ศักดิ์สิทธิ์
ดีเพราะศักดิ์สิทธิ์
เป็นกติกาที่บังคับใช้ได้ (Enforceable) จูงใจให้ทำตาม และก่อให้เกิดสัญญาใจซึ่งเป็นหัวใจของธรรมนูญครอบครัวที่ดี
การสร้างกติกาที่ศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัวเกิดจากปัจจัยอย่างน้อย 4 ปัจจัย ได้แก่
การผูกกติกาครอบครัวไว้กับข้อกฎหมาย การกำหนดรางวัลเมื่อปฏิบัติตามกติกา การลงโทษเมื่อไม่ปฏิบัติตาม
และการสร้างให้เกิดสัญญาใจระหว่างสมาชิกครอบครัว[2] ซึ่ง “สัญญาใจ” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกติกาเหล่านั้นเป็น
(1) กติกาที่สมาชิกครอบครัวกำหนดขึ้นมาร่วมกัน
ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนด โดยมีลักษณะเป็น “หลักเกณฑ์” มากกว่า “หลักกู”
(2) กติกาเหล่านั้นมีการยึดโยงกับค่านิยมหรือธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของครอบครัว
(3)
กติกาเหล่านั้นจะนำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมของครอบครัว
ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
(4) ผู้มีอำนาจ
หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวก็ยังต้องปฏิบัติตามกติกาเหล่านั้น โดยมีข้อยกเว้นน้อยที่สุด
มี VIP น้อยที่สุด เพราะ “อภิสิทธ์”
คือสิ่งที่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมนูญครอบครัว
ความศักดิ์สิทธิ์จะทำให้ธรรมนูญครอบครัวไม่ได้เป็นเพียงเสือกระดาษ
แต่เป็นกติกาที่ให้คุณให้โทษได้ คือ โน้มน้าวให้สมาชิกทำสิ่งที่ครอบครัวเห็นว่าดี
และป้องปรามไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่ดี
3. ครบ
ดีเพราะเขียนไว้ครบถ้วน
ครอบคลุมเรื่องสำคัญของครอบครัว (Complete) เปรียบดังบ้านที่สวยงาม
หากแต่ขาดหลังคาหรือส่วนประกอบที่สำคัญก็ทำให้บ้านหลังนั้นอยู่ไม่สบาย
(หรืออาจอยู่ไม่ได้เลยในบางกรณี)
จากการสังเกตรวบรวมประเด็นสำคัญที่มักนำไปสู่ปัญหาต่างๆ
ในธุรกิจครอบครัวพบว่ามีอยู่อย่างน้อย 8 ประเด็น ได้แก่ (1) การสื่อสาร
การตัดสินใจร่วมกัน และการระงับข้อพิพาท (2) การสืบทอดธุรกิจ
(3) การให้ค่าตอบแทนสมาชิก (4) การจัดการเงินกงสี
(5) หุ้นของธุรกิจครอบครัว (6) การรักษาความสัมพันธ์สมาชิกครอบครัว
(7) ค่านิยมร่วมกันของครอบครัวและ (8) การกำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจครอบครัวร่วมกัน[3]
โดยทั้ง 8 ประเด็นนี้ ต่างมีความสำคัญในตัวของมันเอง
แต่ที่เป็นพื้นฐานที่สุดและเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันก่อนเรื่องอื่นๆ ก็คือ กติการ่วมกันในการสื่อสาร
และตัดสินใจร่วมกัน เป็นอันดับแรก และอย่าเพิ่งรีบกระโดดไปกำหนดกติกาในเรื่องยากๆ
(แต่เป็นเรื่องที่คนสนใจมาก) เช่น การสืบทอดธุรกิจ การให้ค่าตอบแทน กงสี
หรือหุ้นก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวสูง ค่อยๆ สั่งสมความสำเร็จไปเรื่อยๆ
จากเรื่องง่ายๆ โดยไม่ต้องเร่งร้อน
ความครบถ้วนอาจไม่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการเขียนธรรมนูญ
แต่เมื่อค่อยๆ เติมทีละเล็กทีละน้อย อย่างไม่ย่อท้อ
บ้านก็จะกลายเป็นบ้านที่สมบูรณ์อย่างที่ตั้งใจ
4. แก้ไขได้
ดีเพราะแก้ไขได้ (Amendable)
เปิดทางให้มีการทบทวน ปรับปรุงได้อย่างมีกติกา คุณลักษณะข้อนี้มีผลดี
2 ประการที่สำคัญคือ ประการแรก
ธรรมนูญที่แก้ไขได้จะทำให้สามารถตกลงกติกากันได้ง่ายขึ้น
เพราะหากเขียนธรรมนูญที่ไม่อาจแก้ไขได้เลย
สมาชิกคงต้องคิดหน้าคิดหลังกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพราะกติกาที่เขียนขึ้นมานั้นจะผูกพันพวกเขาตลอดไป!
ประการที่สอง ธรรมนูญที่แก้ไขได้จะเหมือนเรามี “กุญแจสำรอง”
หากเกิดปัญหาใดๆ หรือสถานการณ์เปลี่ยนแปลง
ครอบครัวก็รู้ว่าพวกเขาจะสามารถแก้ไขกติกาในธรรมนูญได้ ไม่ใช่ล็อกเป็นเงื่อนตายที่ไม่อาจแก้ไข
ซึ่งการมีกติกาที่ผูกเงื่อนตายไว้ ก็ไม่ต่างจากการซุกระเบิดเอาไว้ในบ้าน
และถึงแม้จะแก้ไขได้ แต่ถ้าแก้ไขยาก ก็ส่งผลไม่ต่างจากกติกาที่แก้ไขไม่ได้ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้
ถือเป็นสิ่งที่อันตราย
อย่างไรก็ดี การแก้ไขธรรมนูญครอบครัวนั้นก็ต้องเป็นการ
“แก้ไขได้อย่างมีกติกา”
ไม่ใช่คิดว่าจะแก้ก็แก้ สองสามวันก็แก้ทีอย่างนี้ก็เป็นปัญหา ครอบครัวจึงต้องกำหนด
“กติกา” ในการแก้ไขธรรมนูญให้ชัดเจน ตั้งแต่ต้น จึงจะช่วยลดปัญหาได้
ที่มา
· นวพล วิริยะกุลกิจ,
“สี่เสาของธรรมนูญครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์”,
วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือน มิ.ย. 2564
· นวพล วิริยะกุลกิจ, “ธรรมนูญครอบครัว : เขียนอย่างไรให้สำเร็จ”, สำนักพิมพ์การเงินธนาคาร, 2557